โดย นางสาวนิลุบล ไทรงาม สื่อมวลชนอิสระ
เคยมีคนช่างสังเกต เห็นความแตกต่างในการกินข้าวระหว่างคนไทยกับคนจีน คนจีนส่วนใหญ่จะตักข้าวใส่ปากหนึ่งคำ แล้วตามด้วยกับข้าวอีกหนึ่งคำ ส่วนคนไทย จะตักแกงราดลงไปบนข้าว แล้วกินพร้อมกันในคำเดียว คนช่างสังเกตคนเดิม จึงเอ่ยปากถามเพื่อนชาวจีนว่า ทำไมไม่กินข้าวและกับพร้อมกัน ก็ได้คำตอบที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งว่า การกินแยกกันโดยกินข้าวก่อนก็เพื่อให้ลิ้นได้สัมผัสกับความนุ่มละมุน ความหอมกรุ่นของข้าวหุงใหม่ กินไปก็พิจารณา แยกแยะคุณลักษณะรูปแบบเมล็ดไป จนเผลอ ๆ สามารถบอกได้ทันทีว่า ข้าวที่กำลังกินอยู่เป็นข้าวพันธุ์อะไร ส่วนคนไทยนั้นชอบความจัดจ้าน ที่นิยมราดน้ำแกงลงไปบนข้าว เพราะต้องการให้ทั้งสองอย่างกลมกลืนกัน แต่ขออย่างเดียว ข้าวต้องนุ่ม ไม่แฉะเพื่ออรรถรสในการรับประทาน
แม้วิถีการกินข้าวจะแตกต่างกันเล็กน้อยในรายละเอียด สืบเนื่องมาจากอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่เมื่อพูดถึง “ข้าว” เชื่อได้ว่า คนไทย คนจีน หรือ ชาวเอเชีย-แปซิฟิก จะมีจุดร่วมและภาพจำเกี่ยวกับ “ข้าว” ร่วมกันในหลากมิติ เช่น จุดร่วมด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ในเอเชีย เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตมรสุม เหมาะแก่การเพาะปลูก ทำนา ส่งผลให้ข้าวกลายเป็นพืชส่งออกสำคัญ
ลักษณะพื้นที่ที่คล้ายกัน นำไปสู่ความคล้ายคลึงและจุดร่วมอีกหลายมิติ อาทิ จุดร่วมด้านสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ศิลปะและสถาปัตยกรรม เชื่อมโยงให้ผู้คนในอุษาคเนย์และแปซิฟิก รู้สึกกับ “ข้าว” แบบลึกซึ้ง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะข้าวไม่ใช่แค่อาหาร แต่เป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์อันอบอุ่น เช่น คนเอเชียใช้คำถามว่า ... กินข้าวหรือยัง แทนคำทักทาย สวัสดี สบายดีรึเปล่า โดยมีนัยแฝงความห่วงใย ใส่ใจในสุขภาพ และความเป็นอยู่ของอีกฝ่าย
ในประเทศไทย เมื่อพูดถึง “ข้าว” หรือ “พันธุ์ข้าว” ในมุมมองของผู้บริโภค หลายคนนึกถึง “สี” สารอาหารและคุณประโยชน์ด้านโภชนาการ เช่น ข้าวกล้อง จัดอยู่ในประเภทข้าวไม่ขัดสี มีใยอาหารสูงกว่าข้าวขาวถึง 3 เท่า แถมยังมีดัชนีน้ำตาล (Glycemic Index) น้อยกว่า จึงเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ นิยมซื้อให้คนในครอบครัวรับประทาน แต่สำหรับเกษตรกร เมื่อได้ยินคำว่า ข้าวหรือพันธุ์ข้าว พวกเขาจะนึกถึง “เมล็ดข้าว” ในฐานะจุดกำเนิดของชีวิต เพราะข้าวพันธุ์ดีเพียง 1 เมล็ด เมื่อนำไปเพาะปลูก สามารถแตกหน่อแยกเป็นกอที่มีลำต้นข้าวถึง 20 ต้น แต่ละต้นจะออกรวงให้เมล็ดข้าวขั้นต่ำต้นละ 100 - 150 เมล็ด เท่ากับว่าข้าวจำนวน 20 ต้น จะให้ผลผลิตถึง 2,000 - 3,000 เมล็ดเลยทีเดียว
หากต้องการรักษาผลผลิตชั้นยอด ก็จำเป็นต้องบริหารจัดการ ดูแลอนุรักษ์ เมล็ดพันธุ์ข้าวดี ๆ ให้คงอยู่สืบต่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน โดยในปัจจุบัน หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ก็มีการใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรและการวิจัยมาช่วยเกษตรกรรุ่นใหม่ ใช้แผน Smart Farmer หรือ เกษตรอัจริยะ ในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าว ควบคู่ไปกับการส่งเสริมระบบเกษตรแบบยั่งยืน ร้อยเรียงเป็นห่วงโซ่ คัดสรร ดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศนาข้าว ไปจนถึงระบบชลประทาน
อย่าลืมว่า “ข้าว” ไม่ใช่แค่ “ข้าว” แต่เป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรม ดังนั้น การอนุรักษ์พันธุ์ข้าว โดยใช้วิทยาศาสตร์และระบบดิจิทัล อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เพราะบางพื้นที่ อาจมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงเทคโนโลยี ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ชาวนาในตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ประเทศไทยใช้ภูมิปัญญา และจุดร่วมด้านสังคมและวัฒนธรรม แก้ปัญหาการขาดแคลนและการสูญหายของเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างชาญฉลาด
ในช่วงเริ่มต้น ทุกบ้านในพื้นที่ทำเกษตรแบบตัวใครตัวมัน แทบจะไม่มีใครคุยกัน บ้านไหนเก็บเมล็ดพันธุ์ได้ดี ก็มีใช้ในปีหน้า แต่ถ้าบ้านไหนขาดการใส่ใจ รักษาพันธุ์ข้าวไม่เป็น ไม่อยากง้อเพื่อนบ้าน ก็ต้องไปพึ่งพาขอซื้อพันธุ์ข้าวจากภาครัฐและท้องตลาด ใครปลูกได้มากก็ขายมาก ส่วนคนที่ปลูกไม่ได้ ก็หันไปปลูกข้าวพันธุ์อื่น ในที่สุดพบว่า เริ่มมีเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง เกิดการสูญหาย ตกหล่น คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักข้าวพื้นเมืองที่ปลูกกินกันในรุ่นปู่ย่า พันธุ์ข้าวที่จำหน่ายโดยทั่วไป ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่แบบลุ่มกึ่งดอน กระทั่ง มีความพยายามในการรวมกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองขึ้น จนสามารถรวบรวมชาวบ้านสร้างเป็นเครือข่าย จากนั้นก็จัดตั้ง แปลงทดลองเพื่อปรับปรุงและแก้ไขปัญหาพันธุ์ข้าวขึ้น
นอกจากนี้ ชาวอำเภอกุดชุมได้ริเริ่มฟื้นฟูการละเล่นและประเพณีพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับข้าวขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อาทิ การจัดงานบุญเดือนสาม หรือ กุ้มข้าว การจัดนิทรรศการข้าว การประกวดหุงข้าว นึ่งข้าว ส่วนไม้เด็ดในการสร้างความสัมพันธ์หลังจากที่ห่างเหินกันไปนาน กิจกรรมชวนเพื่อนบ้านกินข้าว จะไปกินบ้านเขาหรือชวนมากินบ้านเราก็ได้ ให้ทุกคนมีโอกาสนั่งล้อมวงกินข้าว พูดคุย แบ่งปันเรื่องราว สร้างความรักใคร่กลมเกลียว จนชาวบ้านและเกษตรกรในพื้นที่มองเห็นถึงคุณค่าของเมล็ดพันธุ์ข้าวในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกัน ในที่สุด ก็สามารถฟื้นฟูพันธุ์ข้าวได้ถึง 13 สายพันธุ์ จากที่เคยมีมากกว่า 50 สายพันธุ์ เช่น ข้าวขาวใหญ่ เล้าแตก สันป่าตอง หอมเสงี่ยม นางนวล ข้าวก่ำ มะลิดำ