สวัสดี เส้นทางรถไฟจีน - ลาว

2022-01-20 14:50:21 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

เส้นทางรถไฟจีน - ลาวมีความยาวทั้งสิ้น 1,000 กว่ากิโลเมตร ออกแบบให้มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พื้นที่สีเขียวตลอดเส้นทางมากถึง 3,460,000 ตารางเมตร

ด้านทิศเหนือเริ่มจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน มุ่งไปทางใต้ผ่านเมืองอวี้ซี เมืองผูเอ่อร์ แคว้นปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองพันนา ด่านบ่อหานชายแดนจีน - ลาว จนไปถึงเวียงจันทน์เมืองหลวงของลาว ซึ่งคาดหวังว่าจะเชื่อมต่อกับไทยต่อไปในอนาคต

โครงการประสานกันระหว่างข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีนกับยุทธศาสตร์ “เปลี่ยนดินแดนแลนด์ล็อก (ดินแดนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล) ให้เป็นประเทศเชื่อมต่อภาคพื้นทวีป” โครงการนี้ ได้เริ่มดำเนินงานในเดือนธันวาคม 2559 และวางแผนจะเดินรถในเดือนธันวาคม 2564

หลังจากสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ การเดินทางจากนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ไปถึงเมืองจิ่งหง แคว้นปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองพันนา จะใช้เวลาเพียงแค่ 3 ชั่วโมงกว่า ๆ และมีความเป็นไปได้ที่จะบรรลุเป้าหมายขนส่งโดยตรงและเดินทางต่อไปถึงเวียงจันทน์ของลาวได้ภายในหนึ่งวัน จากข้อมูลข้างต้น คือนัยยะของเส้นทางรถไฟจีน - ลาว

ในโอกาสเปิดเดินรถเส้นทางรถไฟจีน - ลาว นิตยสาร “แม่น้ำโขง” ได้จัดทำรายงานพิเศษ บันทึกวินาทีประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การจารึกของประชาชนจีนและลาว จากการสัมภาษณ์ ประชาชนจีนและลาวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เส้นทางรถไฟสายนี้มีนัยยะที่สำคัญอย่างมาก

จากมุมมองของวิศวกรผู้ก่อสร้าง เส้นทางรถไฟจีน - ลาว วิ่งผ่านภูเขาสูงหลากหลายลูก ข้ามแม่น้ำหลายสาย อุโมงค์แต่ละแห่ง สะพานแต่ละแห่งล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงเทคนิคการก่อสร้างที่มีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการต่อสู้อย่างมุ่งมั่นของผู้ก่อสร้าง

คนงานลาวจำนวนมากเติบโตขึ้นพร้อมกับเส้นทางรถไฟ คนงานก่อสร้างเดิมได้เติบโตกลายเป็นช่างฝีมือผู้ชำนาญ  ส่วนล่ามก็กลายเป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ พนักงานขับรถไฟและเจ้าหน้าที่เทคนิคของลาวจำนวนหนึ่งได้ผ่านการคัดเลือกและเรียนรู้ทีละขั้นตอนจนกลายเป็นกำลังสำคัญในการบริหารเส้นทางรถไฟจีน - ลาว

ชาวบ้านตามแนวเส้นทางรถไฟของลาวจำนวนมากได้รับประโยชน์จากเส้นทางรถไฟจีน - ลาวตั้งแต่แรกเริ่ม หลังจากเส้นทางรถไฟจีน - ลาว เริ่มดำเนินโครงการ มีคนเข้ามาทำงานในโครงการบางคนสมัครเป็นพนักงานขับรถก่อสร้าง บางคนเปิดร้านเล็ก ๆ อยู่บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง สำหรับพวกเขาแล้ว เส้นทางรถไฟจีน - ลาวเป็นเส้นทางที่นำมาซึ่งความร่ำรวย

ช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์หายากที่จีนและลาวร่วมกันอนุรักษ์  ในช่วงของการก่อสร้างที่สิบสองพันนาท่ามกลางป่าเขาหนาทึบและมีช้างป่าโผล่มาให้เห็นเป็นระยะ ๆ ฝ่ายก่อสร้างได้พิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศเป็นปัจจัยสำคัญ สำรวจการกระจายตัวของช้างป่าและเส้นทางอพยพของมัน และปรับเส้นทางบางส่วนให้เป็นสะพาน เพื่อเหลือทางเดินให้ช้าง จากนัยนี้ เส้นทางรถไฟจีน - ลาวจึงเป็นเส้นทางสีเขียว

หมู่บ้านลาดหาน เมืองงา แขวงอุดมชัย ประเทศลาว ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับสะพานลาดหาน สะพานข้ามแม่น้ำโขงขนาดใหญ่ ในความเห็นของผู้ใหญ่บ้าน ท่านนายบ้าน สงทอง ไซยะวง เส้นทางรถไฟจีน - ลาวเป็นเส้นทางแห่งความผาสุกของครอบครัวเขา เพราะจากเส้นทางรถไฟจีน - ลาวนี้ เขาได้ลูกเขยมาหนึ่งคน

ในความคิดของคุณ เส้นทางรถไฟจีน - ลาวเป็นอย่างไร อาจจะมีคำตอบที่ไม่เหมือนกัน จีนกับลาวเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เป็นมิตรที่ดี เป็นสหายที่ดี เป็นหุ้นส่วนที่ดี ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นประชาคมที่มีชะตาร่วมกันอีกด้วย ประโยชน์ของเส้นทางรถไฟไม่เพียงแต่เป็นการเชื่อมโยงการคมนาคมเข้าหากัน แต่ยังเป็นอนาคตที่เกื้อกูลประโยชน์และได้รับชัยชนะร่วมกันอีกด้วย

เส้นทางแห่งความร่ำรวย

“หลังจากเส้นทางรถไฟจีน - ลาวเปิดให้บริการ โลจิสติกส์ระหว่างลาวกับจีนก็จะสะดวกรวดเร็วขึ้น ต้นทุนของการขนส่งสินค้าก็จะลดลงอย่างแน่นอน รอหลังจากโรคระบาดสิ้นสุดลง ผมตั้งใจว่าจะเปิดร้านค้าที่ลาว เพื่อขายสินค้าที่ส่งมาจากจีน” คุณเพ็ดสะหมอน สีอำพอนวัย 46 ปี อาศัยอยู่ที่เวียงจันทน์เมืองหลวงของลาว วางแผนชีวิตในอนาคตไว้กับเส้นทางรถไฟจีน - ลาวอย่างแยกไม่ออกจากกัน

ที่ผ่านมา การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจีน - ลาว ทำให้คุณเพ็ดสะหมอนได้งานที่เงินเดือนไม่เลวเลย ในปัจจุบัน เส้นทางรถไฟจีน - ลาวจะเปิดเดินรถแล้ว เขาก็เห็นโอกาสทางธุรกิจที่สดใสในการทำการค้าระหว่างสองประเทศขึ้นมาอีก

ปลายปี 2559 ขณะที่เส้นทางรถไฟจีน - ลาวได้เริ่มก่อสร้างตลอดสาย คุณเพ็ดสะหมอนยังเป็นแค่พนักงานขับรถบรรทุกธรรมดาคนหนึ่ง “ตอนนั้น มีคนจีนมาลาวจำนวนไม่น้อย ผมรู้สึกว่า หากพูดจีนได้บ้าง ก็จะสามารถปล่อยรถให้คนจีนเช่าได้ หรือไปหางานที่วิสาหกิจจีนซักงาน”  คุณเพ็ดสะหมอนกล่าว

แม้ว่าภาษาจีนจะเรียนยาก แต่คุณเพ็ดสะหมอนก็พยายามไขว่คว้าหาโอกาสในการเรียน เวลาปกติ เขาจะดูคลิปเรียนบทสนทนาภาษาจีน เมื่อเจอคนจีน ก็พยายามเข้าไปพูดคุยและเรียนรู้ภาษาจีน ในเดือนมกราคม 2563 โครงการไฟฟ้าสำหรับเส้นทางรถไฟจีน - ลาวในช่วงของลาวได้เริ่มก่อสร้างขึ้น คุณเพ็ดสะหมอน อาศัยข้อได้เปรียบด้านภาษาจีน กลายเป็นพนักงานขับรถของบริษัทลงทุนไฟฟ้าจีน - ลาว “หลังจากเข้าบริษัท เงินเดือน 5 ล้านกีบ (ประมาณ 3,000 หยวน) แถมยังรวมกินรวมอยู่” คุณเพ็ดสะหมอนกล่าวว่า เงินเดือนเท่านี้ในลาวถือว่าอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูงแล้ว

ด้วยความพยายามของคุณเพ็ดสะหมอนทำให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เขายังส่งเสียลูกสาวจนเข้ามหาวิทยาลัย “ลูกสาวผมเรียนที่มหาวิทยาลัยหมินจู๋ยูนนาน  ตอนนี้เรียนจบแล้ว ได้เข้าทำงานที่วิสาหกิจแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์ เงินเดือนสูงมากทีเดียว” 

“หากมีโอกาส ผมอยากพาครอบครัวนั่งรถไฟจีน - ลาวไปเที่ยวกำแพงเมืองจีน แน่นอนว่า ผมก็ยินดีต้อนรับชาวจีนนั่งรถไฟมาเที่ยวที่ลาวเช่นกัน” คุณเพ็ดสะหมอนกล่าว

เส้นทางสีเขียว

ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา เรื่องราวของช้างป่าเอเชียที่เดินทางอย่างเสรีในมณฑลยูนนานได้กลายเป็นหน้าต่างบานหนึ่งที่ทำให้โลกได้รู้จักการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของยูนนาน

สถานีหุบเขาช้างป่าของเส้นทางรถไฟจีน - ลาว ตั้งอยู่ที่เมืองจิ่งหง แคว้นปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองพันนา มณฑลยูนนานติดกับเขตอนุรักษ์ธรรมชาติช้างป่าเอเชีย ทั้งต้องสร้างสถานี ทั้งต้องไม่รบกวนช้าง และยังต้องอนุรักษ์พืชพรรณป่าไม้ในพื้นที่ด้วย เมื่อเจอโจทย์ที่ยากเช่นนี้ บรรดาวิศวกรก็คิดแผนงานอันเฉียบคมออกมาได้คือ นอกจากตัวสถานีรถแล้ว ส่วนอื่นล้วนสร้างเป็นอุโมงค์“ปลายของสถานีด้านหนึ่งคือ อุโมงค์

เมิ่งหย่าง ปลายอีกด้านหนึ่งคืออุโมงค์สิบสองพันนา อุโมงค์ทั้งสองแห่งนี้ล้วนเป็นอุโมงค์ยาวขนาดใหญ่ที่มีความยาว 10 กิโลเมตรขึ้นไป” นายหลิว อีเฉียว หัวหน้าผู้บัญชาการ กองบัญชาการการก่อสร้างเส้นทางรถไฟเตียนหนาน (China Railway Kunming Group Co.,Ltd.) เล่าว่า รูปแบบการก่อสร้างเช่นนี้ เท่ากับจะต้องลอดผ่านตัวภูเขา  การดำเนินงานทั้งหมดต้องทำใต้ดิน ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของพืชพรรณและสัตว์ป่าทั้งหลายในพื้นที่ หลังจากเปิดเดินรถไฟ ก็จะไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตปกติของช้างป่าเอเชีย

เส้นทางรถไฟจีน - ลาวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่สะท้อนให้เห็นถึง “ความให้เกียรติ” แก่ช้างป่าเอเชียเท่านั้น แต่ยังอนุรักษ์และฟื้นฟูพรรณพืชด้วย เส้นทางรถไฟจีน - ลาวในช่วงประเทศจีนที่มีการสร้างทางขึ้นใหม่เป็นระยะ 500 กว่ากิโลเมตร ในช่วงปลายการก่อสร้าง วิศวกรได้เลือกวิธีการบริหารจัดการสีเขียวโดยปลูกหญ้าปลูกต้นไม้บริเวณรอบ ๆ ซึ่งทั้งหมดได้ปลูกไม้พุ่ม 28.6 กว่าล้านต้น ไม้เลื้อยประมาณ 40,000 ต้น ไม้ที่ให้ร่มเงาประมาณ 63,000ต้น พื้นที่สีเขียวทั้งหมดของเส้นทางรถไฟมากถึง 2.26 ล้านตารางเมตร โดยได้สร้างระเบียงสีเขียวที่มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณตลอดเส้นทาง

มีดอกไม้ในสายตา มีสีเขียวนอกหน้าต่าง คนนั่งบนรถไฟ รถวิ่งไปท่ามกลางภาพวาด นี่เป็นทิวทัศน์ในอนาคตที่ผู้โดยสารเส้นทางรถไฟจีน - ลาว จะได้เห็นระหว่างเดินทาง

ถนนสายวัฒนธรรม

โรงเรียนประถมมิตรภาพจีน - ลาวหมู่บ้านหนองปิง ตั้งอยู่ที่อำเภอจันทบุรี นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ด้วยการสนับสนุนของจีน นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทางฝ่ายจีนได้ส่งครูอาสาสมัครเดินทางไปทำการเรียนการสอน พร้อมทั้งจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้อย่างต่อเนื่อง นับเป็นโครงการสาธิตมิตรภาพจีน - ลาว

ในปี พ.ศ. 2562 ก่อนการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศในโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 2  ครูและนักเรียนของโรงเรียนประถมศึกษาแห่งนี้ได้ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เพื่อแสดงความหวังว่า “จะได้นั่งรถไฟจีน - ลาวไปยังกรุงปักกิ่งในเร็ววัน”  นายสี จิ้นผิง ได้เขียนจดหมายตอบกลับคุณครูและนักเรียนโรงเรียนประถมดังกล่าว โดยให้กำลังใจพวกเขาในการทำหน้าที่เป็นผู้สืบทอดมิตรภาพจีน - ลาวว่า “ยินดีต้อนรับพวกคุณมากรุงปักกิ่งด้วยรถไฟจีน - ลาวในเร็ววันนี้”

ด้วยการก่อสร้างและขยายทางรถไฟจีน - ลาวอย่างต่อเนื่องในประเทศลาว ความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนประถมมิตรภาพจีน - ลาวหมู่บ้านหนองปิง และทางรถไฟจีน - ลาวมีความผูกพันลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องในวันเด็กปี พ.ศ. 2562 บริษัทการรถไฟจีน - ลาว  ได้เชิญครูและนักเรียนโรงเรียนประถมหมู่บ้านหนองปิงให้เดินทางเข้าไปในไซต์งานก่อสร้างทางรถไฟจีน - ลาวเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อให้ครูและนักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์การก่อสร้างทางรถไฟจีน - ลาวโดยตรง เดือนตุลาคม 2564 โครงการรถไฟจีน - ลาว ได้บริจาคอุปกรณ์กีฬา เช่น สนามหวาย โต๊ะปิงปอง และหน้ากาก วัสดุป้องกันเชื้อไวรัส ฯลฯ ให้กับโรงเรียนประถมมิตรภาพจีน - ลาวหมู่บ้านหนองปิง

เส้นทางแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ช่วงเช้าวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2563 บริเวณพรมแดนระหว่างจีน - ลาว เสียงระเบิดครั้งสุดท้ายดังขึ้น อุโมงค์มิตรภาพทางรถไฟจีน - ลาว ความยาว 9.59 กิโลเมตร เจาะทะลุผ่านได้สำเร็จ ท่ามกลางเสียงเชียร์ของทีมงานก่อสร้าง เบื้องหลังนี้ มีช่างก่อสร้างทั้งฝ่ายจีนและลาวกว่า 1,200 คน ประกอบกับการทำงานหนักกว่า 1,540 วันของพวกเขา

อุโมงค์มิตรภาพทางรถไฟจีน - ลาว มีความยาวในจีน 7.17 กิโลเมตร และในลาว 2.42 กิโลเมตร การเชื่อมต่ออุโมงค์มิตรภาพทางรถไฟจีน - ลาวเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เทคโนโลยีเพื่อเอาชนะความยากลำบาก อุโมงค์อันติ้งความยาวรวม 17,476 เมตร ถือเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดของเส้นทางรถไฟจีน - ลาว โดยข้ามรอยเลื่อน 20 จุด และทางชัน 2 จุด ความยากในการก่อสร้างและความเสี่ยงด้านวิศวกรรมล้วนไม่ค่อยพบเจอในการก่อ-สร้างอุโมงค์รถไฟของจีน  โดยได้สร้างเสร็จเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ส่วนสะพานรถไฟรางคู่หยวนเจียงความยาว 832 เมตร ตั้งอยู่ในหุบเขารูปตัว V จากสะพานถึงผิวแม่น้ำห่างกันประมาณ 237 เมตร นับเป็นสะพานรถไฟในแบบเดียวกันที่สูงที่สุดในโลก สร้างเสร็จในเดือนกันยายน พ.ศ. 2564

จาง ซินจิ่น รองผู้จัดการใหญ่ของไชน่า เรลเวย์ คุนหมิง กรุ๊ป กล่าวว่า เส้นทางรถไฟจีน - ลาวเป็นเส้นทางแห่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อาศัยนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เอาชนะปัญหาเชิงเทคนิคระดับโลกจนสำเร็จ เพื่อรับประกันให้เส้นทางรถไฟจีน - ลาวเปิดเดินรถได้อย่างราบรื่น