ร่วมสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” รถไฟจีนวิ่งสู่ดินแดนใหม่

2022-01-20 14:48:24 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

โครงการรถไฟไทย - จีน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564 มีพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างส่วนประมูล 3 ส่วนโครงการความร่วมมือรถไฟไทย - จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของโครงการความร่วมมือการรถไฟไทย - จีนนี้

โครงการรถไฟไทย - จีน เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงรางมาตรฐานสายแรกของประเทศไทย โดยใช้เทคโนโลยีของจีน ระยะที่ 1 เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับนครราชสีมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุดที่ออกแบบไว้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สำหรับระยะที่ 2 จะขยายต่อไปถึงหนองคาย ซึ่งอยู่ติดกับนครหลวงเวียงจันทน์ของลาวเพียงคั่นด้วยแม่น้ำโขง และจะเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟจีน - ลาว ช่วงบ่อเต็น - เวียงจันทน์

ภายหลังโครงการรถไฟไทย - จีนแล้วเสร็จ ทางเหนือจะเชื่อมกับเส้นทางรถไฟจีน - ลาวและมณฑลยูนนานของประเทศจีน ส่วนทางใต้จะเชื่อมกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ กลายเป็นเสมือน “เส้นเลือดใหญ่” จากเหนือจรดใต้ ตามจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ นายดอนปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า โครงการรถไฟไทย - จีน จะเชื่อมโยงจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดียิ่งขึ้น

รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ต้า - บันดุง  

เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564 โครงการเชิงสัญลักษณ์ในการร่วมสร้างข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ระหว่างประเทศจีนกับประเทศอินโดนีเซีย คือการก่อสร้างจุดเชื่อมต่อบริเวณทางแยกสถานี Lanzeke ของรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา - บันดุงได้สำเร็จลงแล้ว ส่งผลให้ระบบรางรถไฟสายใหม่ “จับมือ” เชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟที่มีอยู่เดิมของอินโดนีเซีย

รถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตา - บันดุง เป็น “ออร์เดอร์แรก” ที่จีนส่งออกไปยังต่างประเทศแบบครอบคลุมห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั้งหมด ระบบทั้งหมด และองค์ประกอบทั้งหมดของระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน และเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่เพียงช่วยปรับปรุงสภาพการจราจรในท้องถิ่นให้ดีขึ้น แต่ยังช่วยสร้างตำแหน่งงานจำนวนมากให้แก่อินโดนีเซีย

รามาและอาจิ ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในอินโดนีเซีย เลือกที่จะทำงานในโครงการรถไฟความเร็วสูงสายจาการ์ตาบันดุง เพื่อ “เรียนรู้เทคโนโลยีการก่อสร้างระดับโลก” บรรดาอาจารย์ชาวจีนตอบคำถามต่าง ๆ อย่างอดทนและลงรายละเอียด พร้อมทั้งเปิดชั้นเรียนภาษาจีนขนาดเล็กสำหรับทั้งคู่ โดยเน้นการเรียนรู้คำศัพท์ทางวิศวกรรมไม่นานนัก ทั้งสองคนได้กลายเป็นกำลังสำคัญด้านเทคนิคในหมู่พนักงานท้องถิ่น นอกจากทำหน้าที่เป็น “สะพาน” เชื่อมโยงการสื่อสารระหว่างคณะทำงานของอินโดนีเซียกับจีนแล้ว ยังสามารถนำประสบการณ์ของตนเองมาถ่ายทอดทักษะการปฏิบัติงานจริงให้แก่พนักงานชาวอินโดนีเซียที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการด้วย

รถไฟความเร็วสูงสายนครเมกกะ - เมดินา

เจดดาห์ เมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันออกของทะเลแดง เป็นที่ตั้งของท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดของซาอุดิอาระเบียและสนามบินนานาชาติคิง อับดุลา-ซิซ (JED) อีกทั้งเป็นจุดผ่านสำคัญเพื่อไปยังนครเมกกะและเมืองเมดินา

ในปี พ.ศ. 2561 รถไฟความเร็วสูงสายนครเมกกะ - เมดินา  ซึ่งก่อสร้างโดยบริษัทจีนได้เริ่มเปิดให้บริการ รถไฟความเร็วสูงรางคู่ระบบไฟฟ้าที่มีความเร็วสูงสุดในโลกที่วิ่งบนทะเลทรายนี้ ได้ย่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างนครเมกกะกับเมดินาจากเดิม 4 ชั่วโมง เหลือเพียง 2 ชั่วโมง  มีปริมาณผู้โดยสารต่อปีมากกว่า 15 ล้านคน ซึ่งช่วยบรรเทาการจราจรที่ความคับคั่งในท้องถิ่นอย่างมาก และทำให้การเดินทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น