จนถึงปลายปี พ.ศ. 2062 ชาวชนบทผู้ยากจนของจีนมีจำนวนลดลงจาก 98.99 ล้านคนเมื่อปลายปี พ.ศ. 2555 เหลือเพียง 5.51 ล้านคนหรือลดลงสะสม 93.48 ล้านคน ซึ่งหัวใจหลักของความสำเร็จมาจากการที่จีนใช้ยุทธศาสตร์แก้จนแบบตรงจุด (精准扶贫) นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมาจีนได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดาลแล้วกว่า 3 ล้านคน โดยทำหน้าที่ช่วยวิเคราะห์ความต้องการของครัวเรือน จัดทำแผนการพัฒนากับครอบครัว ประสานทรัพยากร การให้ความช่วยเหลือซึ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ในระดับรายบุคคล ครอบครัวชุมชน และหมู่บ้าน แนวทางการลดความยากจนแบบตรงจุดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของจีนคือผู้นำให้ความสำคัญและภาครัฐลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง ยกให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติ อีกทั้งบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน สร้างระบบที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานและวัดผลได้ตั้งแต่ระดับมหภาคไปจนถึงระดับจุลภาค
ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังใช้นโยบาย “สองไร้กังวล สามหลักประกัน (两不愁三保障)” เป็นหลักการขจัดความยากจนโดย “สองไร้กังวล” หมายถึง ไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกินและเครื่องนุ่งห่ม ส่วน “สามหลักประกัน” ได้แก่ หลักประกันด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และที่อยู่อาศัย
ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ประชากรผู้ยากจนของจีนมีจำนวนลดลงสะสมกว่า 700 ล้านคน ได้ช่วยลดสัดส่วนผู้ยากจนทั่วโลกกว่าร้อยละ 70 โดยจีนมีความมั่นใจว่าจะขจัดความยากจนได้ทั้งหมดภายในสิ้นปี พ.ศ. 2563 นี้ ซึ่งนับว่าจีนสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติด้านการขจัดความยากจนให้หมดไปจากโลกในปี พ.ศ. 2573 ได้เร็วกว่ากำหนดถึง 10 ปี
จากความสำเร็จของจีน ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ของไทยจึงได้ศึกษาและถอดบทเรียน “การแก้จนแบบตรงจุดของจีน” เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยโดย อว. ได้วางระบบบริหารจัดการการขจัดความยากจนแบบตรงจุด ผ่านการตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนแห่งชาติและคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ภาคเอกชน ชุมชน และสถาบันอุดมศึกษาซึ่งจะมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่และใช้คัดเลือกกลุ่มประชากรที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือในแต่ละระดับ ตลอดจนช่วยออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมและตรงจุดกับหมู่บ้าน
สำหรับ Roadmap ขจัดความยากจนของประเทศไทย สามารถสรุปเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย
1. นโยบายระดับประเทศโดยจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับชาติ จัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับจังหวัด
2. เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ โดยการเก็บข้อมูลสำมะโนครัวเรือนยากจน สำรวจข้อมูลพื้นฐานอย่างละเอียด ผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) รวมทั้งส่งนักศึกษาและอาจารย์ลงพื้นที่
3. ลงพื้นที่ระบุปัญหา โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ ธกส. 1,000 คน เกาะติดครัวเรือน 1 - 3 ปี เพื่อศึกษาปัญหาและพัฒนาโครงการของบประมาณ และสร้างกลไกส่งนักศึกษาลงแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยบรรจุเป็นวิชาเลือกนับหน่วยกิตได้
4. ขับเคลื่อนโครงการ โดยการสร้างกลไกให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่
5. การติดตามประเมินผล โดยใช้กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดรายงานรายได้และสัดส่วนคนยากจนในพื้นที่ต่อคณะกรรมการระดับชาติผ่านรายงานประจำปี (The Poverty Monitoring Report)
เมื่อพิจารณาจากโมเดลการแก้จนของรัฐบาลไทยแล้ว เห็นได้ว่าใช้ “การแก้จนแบบตรงจุดของจีน” เป็นต้นแบบ และนำมาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของไทย อย่างไรก็ตาม ไทยจะสามารถทำได้สำเร็จอย่างจีนหรือไม่ลำพังแค่การ “ก๊อปบี้โมเดล” คงไม่เพียงพอ ยังต้องลงมือปฏิบัติอย่างทุ่มเทจริงจัง พร้อมทั้งบูรณาการทุกภาคส่วนเข้าด้วยกันให้ได้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกันจีนด้วย