การบำบัดและดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในจีน

2021-01-28 14:35:14 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

ในฐานะเป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากที่สุดในโลก จีนพยายามรับมือกับยุคสังคมผู้สูงอายุที่ย่างใกล้เข้ามาทุกที ก่อให้เกิดเป็นระบบการบริการดูแลผู้สูงอายุที่ผนวกรวมการรักษาพยาบาลกับการดูแลสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน

การพยาบาลดูแลผู้สูงอายุในชุมชนแบบฝังตัว

“ตั้งแต่แปดโมงเช้าก็จะมีเจ้าหน้าที่มารับฉันไปออกกำลังกายฟื้นฟูสุขภาพที่ศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุ และส่งฉันกลับบ้านตอนห้าโมงครึ่ง บริการครบถ้วนทุกอย่าง” คุณยายจ้าว ปิ่งโย่ว วัย 84 ปีที่อาศัยอยู่ชุมชนเหยียนฉวน เขตเหลียนตู เมืองลี่สุ่ย มณฑลเจ้อเจียงกล่าว คุณยายมีประวัติการเป็นเบาหวานมายี่สิบกว่าปี สองปีมานี้ขาด้านขวาของเธอมีอาการทรุดลง ต้องใช้ไม้เท้าในการเดินคนที่บ้านได้ช่วยเธอติดต่อศูนย์บริการดูแลผู้สูงอายุประจำชุมชนที่อยู่อาศัยด้วยการออกกำลังกายบำบัดฟื้นฟูเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาการของเธอก็ดีขึ้น “นอกจากช่วยคนชราทำกายภาพแล้ว ที่นี่ยังช่วยแก้ปัญหาการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ของผู้สูงวัยในชุมชนอีกด้วย ทางศูนย์จะช่วยดูแลบริการอาหารกลางวัน อาหารเย็น และอาบน้ำ” นางหลี่ หง พยาบาลกล่าวแนะนำ ในปัจจุบันเมืองลี่สุ่ยได้ตั้งศูนย์ดูแลบริการผู้สูงอายุสำหรับชุมชนครอบคลุมทั้งเมืองเป็นจำนวน 1,842 แห่ง และได้ดึงองค์กรพยาบาลดูแลผู้สูงอายุเฉพาะทางจำนวน 9 แห่งเข้ามารวมกัน ซึ่งได้ช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการเฉพาะทางได้เป็นอย่างดี

ตามสถิติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2562 จีนมีหน่วยงานและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุทั้งสิ้น 177,700 รายการ มีเตียงบริการผู้สูงอายุ 7.546 ล้านเตียง หน่วยงานและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุเหล่านี้ส่วนใหญ่กระจายตัวไปทั่วชุมชนในเมือง ทำให้ผู้สูงอายุไม่ต้องห่างจากบ้านก็สามารถเข้ารับบริการที่ละเอียดอบอุ่นได้ ทำให้การดูแลผู้สูงอายุสามารถบริการได้ถึงหน้าประตูบ้านเลยทีเดียว

สถานบริการดูแลผู้สูงอายุและรักษาพยาบาลอย่างครบวงจร

หน่วยงานรักษาพยาบาลไม่สามารถดูแลส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุได้ หน่วยงานดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุก็ไม่สามารถรักษาพยาบาลได้ความขัดแย้งนี้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนางานด้านการดูแลผู้สูงอายุในประเทศจีน ดังนั้น ทุก ๆ พื้นที่ในจีนจึงเริ่มหารูปแบบ “ผนวกการรักษาพยาบาลกับการดูแลส่งเสริมสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน”

ที่ศูนย์สาธิต (ฟื้นฟูสุขภาพ) ผนวกการรักษาพยาบาลกับการดูแลส่งเสริมสุขภาพพานซี เมืองพานจือฮวา นายเฉา หงโหย่ว วัย 78 ปี ต้องลุกขึ้นเดินหนึ่งรอบทุกวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ เนื่องจากป่วยทำให้เขาไม่สามารถลงจากเตียงได้เป็นเวลาห้าปีกว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ลูกสาวรู้สึกเหลือเชื่อ  ยิ่งไปกว่านั้นคือรู้สึกดีใจมาก

ที่ศูนย์สาธิต (ฟื้นฟูสุขภาพ) ผนวกการรักษาพยาบาลกับการดูแลส่งเสริมสุขภาพพานซี เป็นสถานดูแลผู้สูงอายุที่ “ผนวกรวมการรักษาพยาบาลเข้าไว้กับการดูแลส่งเสริมสุขภาพ” มีเจ้าหน้าที่พยาบาลเฉพาะทางและทีมแพทย์ทุกสาขา ในปี พ.ศ. 2561 นายเฉา หงโหย่ว ชายชราผู้เป็นโรคเบาหวานสองประเภท โรคหลอดเลือดสมองตัน โรคไขข้ออักเสบความดันโลหิตสูงได้เข้ามาอยู่ที่ศูนย์นี้ ในขณะนั้น เขาไม่ค่อยได้สติ พูดไม่ค่อยได้ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง เนื่องจากนอนบนเตียงมาเป็นระยะเวลานาน ทำให้มีบาดแผลจากการกดทับเต็มตัวไปหมด

ศูนย์ดังกล่าวรีบเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขามาร่วมกันตรวจรักษา กำหนดแผนการรักษาขึ้น ด้วยการรักษาโรคเดิมอย่างเต็มที่พร้อมด้วยการเสริมอาหารโภชนาการ ปรับวิธีดูแลสุขภาพ อาการป่วยของชายชราผู้นี้ก็ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นางหยาง เสี่ยวลี่ ผู้อำนวยการศูนย์กล่าวว่า การที่โรงพยาบาลเพิ่มบริการส่งเสริมดูแลสุขภาพ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างการดูแลทางการรักษาการแพทย์กับการดูแลส่งเสริมสุขภาพเข้ากันอย่างไม่มีรอยต่อผู้สูงอายุที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ก็ได้รับการบริการ “ครบวงจร” ทั้งการรักษาพยาบาล การดูแลพยาบาลและการฟื้นฟูกายภาพ

ในปัจจุบัน จีนมีองค์กรที่ผนวกรวมการรักษาพยาบาลเข้ากับการดูแลส่งเสริมสุขภาพจำนวน 4,000 แห่ง องค์กรทางการแพทย์กับองค์กรการดูแลส่งเสริมสุขภาพได้ลงนามสัญญาร่วมมือกันประมาณ 20,000 กว่าคู่ ก่อให้เกิดเป็นรูปแบบการบริการที่ค่อนข้างสมบูรณ์ 4 ประเภท อันได้แก่ ความร่วมมือลงนามสัญญาระหว่างการรักษาพยาบาลกับการดูแลส่งเสริมสุขภาพ องค์กรดูแลส่งเสริมสุขภาพก่อตั้งองค์กรรักษาพยาบาล การบริการสาธารณสุขการรักษาพยาบาลขยายตัวไปยังชุมชนและบ้านเรือน องค์กรการรักษาพยาบาลนำเสนอการบริการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุและรูปแบบการดูแลส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุแบบยืดหยุ่น

ทำให้ผู้สูงอายุในชนบทมีชีวิตบั้นปลายที่สงบสุข

“ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” ที่หมู่บ้านเซี่ยเถียน เมืองหลิงซาน อำเภอเฟินอี๋เมืองซินหยู มณฑลเจียงซี บรรดาผู้สูงอายุบางคนก็กำลังดูโทรทัศน์พูดคุยกัน บางคนก็นอนพักบนเตียง ภายในศูนย์สว่างสะอาด อุปกรณ์เครื่องใช้ครบครัน มีการแบ่งเขตอย่างชัดเจน “สมัยก่อน รัฐบาลส่งเงินให้ทุกเดือนแต่ผมลงจากเตียงไม่ได้ และก็ไม่มีคนดูแล มีเงินก็ใช้ไม่ได้” เมื่อเดือนมกราคมปีที่ผ่านมาเขาถูกรับมายังศูนย์รักษาพยาบาลและบริการดูแลผู้สูงอายุอำเภอเว่ยก่าง ชายชราผู้หนึ่งกล่าวว่า “ที่นี่มีอาหารครบสามมื้อ ทุกวันก็จะมีคนคอยดูแล และยังมีหมอมาตรวจ ในเวลาปกติยังมีเพื่อนให้คุยเล่นด้วย”

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา เพื่อแก้ปัญหาการดูแลผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งขาดคนดูแล อยู่คนเดียว และผู้สูงอายุที่มีอุปสรรคในการดำรงชีวิตประจำวันในชนบท เมืองซินหยู มณฑลเจียงซี ได้แต่งตั้งผู้นำหมู่บ้านและผู้รับผิดชอบประจำหมู่บ้านเป็นผู้รับผิดชอบของ “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” จนถึงปัจจุบันหมู่บ้าน 414 แห่งทั่วเมืองซินหยูได้ก่อตั้ง “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” จำนวน 736 แห่ง มีผู้สูงอายุ 9,215 คนเข้ามาอยู่ที่ “ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ” ครอบคลุม หมู่

บ้านและผู้สูงอายุที่มีความต้องการความช่วยเหลือทั้งหมด

ตัวอย่างเหล่านี้เป็นเพียงภาพสะท้อนย่อส่วนของการที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับปัญหาการดูแลผู้สูงอายุในชนบท จากการปรับปรุงมาตรฐานองค์กรดูแลผู้สูงอายุในชนบท ไปจนถึงการพัฒนาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในชนบทเพื่อให้บริการอย่างยั่งยืนภายใต้ความพยายามอย่างแข็งขันในทุก ๆ พื้นที่ ระบบการบริการดูแลผู้สูงอายุที่ละเอียดตรงความต้องการกำลังขยายตัวจากเมืองไปสู่ชนบทจากสถิติกระทรวงกิจการพลเรือนของจีน จนถึง ณ ปลายปี พ.ศ. 2562 จีนมีองค์กรดูแลผู้สูงอายุที่ลำบากพิเศษในชนบทจำนวน 20,000 องค์กรซึ่งได้จดทะเบียนเป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุแบบไม่แสวงหากำไรมีจำนวนเตียงทั้งสิ้น 1.6532 ล้านเตียง