ปลูกผักโดยใช้เทคโนโลยี Big Data

2020-10-22 11:24:39 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

“แค่มีมือถือหนึ่งเครื่อง ก็ทำได้ครบจบทุกเรื่อง” ณ บริษัท เทคโนโลยีเกษตรหลิงหลิน จำกัด อำเภอซิวเหวิน นครกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน นายเผิง เลี่ยงใช้นิ้วแตะเบา ๆ ที่ต้นกีวีบนแอพพลิเคชันในเครื่องโทรศัพท์มือถือ ข้อมูลสิ่งแวดล้อมของต้นกีวีก็ปรากฏให้เห็นตรงหน้าทันที โดยไม่ขาดตกบกพร่องเลยแม้แต่เรื่องเดียว เช่น อุณหภูมิ 20.4 องศาเซลเซียส ค่าความชื้น 97% ข้อมูลผู้ปฏิบัติงานและข้อมูลเกี่ยวกับการทำเกษตรครั้งก่อนทั้งในมิติของเวลาและเนื้อหา

นายเผิง เลี่ยง เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีเกษตรหลิงหลิน จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2562 เขากับบริษัท China Unicom สาขานครกุ้งหยาง ได้ร่วมมือกันบุกเบิกแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ต + การค้ากีวี เพื่อมุ่งสร้างสรรค์สวนกีวีแห่งแรกในมณฑลกุ้ยโจวที่สามารถรับชมได้ผ่านเทคโนโลยีการสร้างภาพจาก Big Data

บริษัท เทคโนโลยีเกษตรหลิงหลิน จำกัด ได้ติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์โดยใช้เทคโนโลยี IOT ในพื้นที่เพาะปลูกกีวี อาศัยการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในพื้นที่ อาทิ อุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ความเข้มข้นของแสง อุณหภูมิและความชื้นในดิน ฯลฯ ทำให้สามารถสังเกตและควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของต้นกีวีได้ รวมทั้งนำข้อมูลแต่ละรายการมาบูรณาการเข้าด้วยกัน จัดเรียงข้อมูลใหม่ แล้วอาศัยเทคโนโลยี IOT อัพโหลดข้อมูลขึ้นไปยังคลาวด์ ซึ่งถือว่าการเพาะปลูกประสบความสำเร็จในการควบคุมด้วยระบบดิจิทัลและบริหารจัดการด้วยวิทยาศาสตร์

นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างที่ Big Data ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการผลิตในภาคเกษตรกรรมของจีน ณ อำเภอหมี่อี้ เมืองพานจือฮวา มณฑลเสฉวน ก็ได้มีการเผยแพร่การใช้ Big Data ในการเพาะปลูกพืชผักผลไม้ต่าง ๆ เช่นกัน

ปลายปี พ.ศ. 2562 ศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรยุคใหม่แห่งอำเภอหมี่อี้ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ บนจอมอนิเตอร์ที่แสดงพื้นที่เพาะปลูกของศูนย์บ่มเพาะ ฯ ไม่เพียงจะสามารถเห็นภาพภายในโรงเรือนปลูกผักในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างชัดเจนแล้ว ยังแสดงให้เห็นข้อมูลสำคัญอย่างแม่นยำ เช่น ค่าความชื้นและอุณหภูมิของดิน ค่าความชื้นและอุณหภูมิของอากาศ ความเข้มข้นของแสง และความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ การอาศัยข้อมูลจาก Big Data มาช่วยวิเคราะห์ ทำให้สามารถรดน้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยา ลดอุณหภูมิ และเพิ่มแสงสว่างได้โดยอัตโนมัติ

นายเหลิ่ง เทียนหัว ประธานกลุ่มสหกรณ์การเพาะปลูกผักผลไม้ลี่ว์อี๋อำเภอหมี่อี้ ปัจจุบันนี้ได้อาศัยโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว ก็สามารถปรับสภาพแวดล้อมของแปลงปลูกผักในโรงเรือนได้ทันทีซึ่งช่วยเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรได้ เมื่อใช้การวิเคราะห์ข้อมูลมาควบคุมระบบต่าง ๆ ยังสามารถทำให้การควบคุมมีความแม่นยำสูงขึ้นด้วย ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและช่วยลดต้นทุนแรงงาน ปีนี้ นายเหลิ่ง เทียนหัวได้อาศัย Big Data ในการปลูกมะเขือเทศได้ราว 3 ไร่ โดยใช้มะเขือเทศพันธุ์ใหม่ 12 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกง่ายโตเร็วและหวานอร่อยกว่ามะเขือเทศพันธุ์เดิม    

สำหรับการใช้ Big Data ในการผลิตภาคเกษตรกรรมนั้น นายเหลิ่งเทียนหัว ชื่นชมอย่างไม่ขาดปาก โดยระบุว่า Big Data ทำให้การเกษตรดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นการเกษตรแบบมีความแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ทำให้เกษตรกรจำนวนมากเปลี่ยนจาก “ปลูกผักจากประสบการณ์” กลายเป็น “ปลูกผักจากเทคโนโลยี  Big Data”

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006