หยั่งรากลงดิน สร้างมูลค่าภาคเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์

2020-10-22 11:21:07 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

ณ ประเทศจีน มีนักวิทยาศาสตร์สายการเกษตรจำนวนมากที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละปีออกห่างจากสถานศึกษาหรือห้องทดลอง เพื่อไปขลุกตัวอยู่กับท้องไร่ท้องนา คิดทุกวิถีทางเพื่อจะนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปใช้ในการผลิตภาคการเกษตร พวกเขา “เขียน” บทความวิชาการบนท้องนาอันกว้างใหญ่ ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรคือรางวัลอันสูงสุดของพวกเขา

นักล่าฝันแห่งทุ่งข้าวโพด

ศาสตราจารย์ฟาน ซิงหมิง นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยพืชอาหารในสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาตร์การเกษตรแห่งมณฑลยูนนาน ด้วยผลงานการอุทิศตนอย่างโดดเด่นด้านการเกษตร เขาจึงได้รับ “รางวัลผู้อุทิศตนดีเด่นสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งมณฑลยูนนาน” ในปี พ.ศ. 2526 หลังจากที่ศาสตราจารย์ฟาน ซิงหมิง สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแล้ว เขาได้ทำงานที่สถาบันวิจัยพืชอาหารในสังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งมณฑลยูนนาน

ด้วยอุณหภูมิที่สูงถึง 48 องศาเซลเซียส ทำให้เขาเป็นลมอยู่กลางแปลงทดลองการปลูกข้าวโพดในประเทศไทย เขาเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ 13 คนจากกระทรวงเกษตรและชนบทของจีนที่ไปร่วมโครงการขยายความร่วมมือกับสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ในจำนวนนี้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียถึง 9 คน ชีวิตของศาสตรจารย์ฟาน ซิงหมิงในหลายปีที่ผ่านมา ต้องเจอกับ “การผจญภัย” อยู่เสมอ

ปัจจุบัน ศาสตรจารจ์ฟาน วัย 57 ปี ยังไม่หยุดทำงาน แต่กลับเดินทางไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อยู่ตลอด มุ่งมั่นที่จะบรรลุความปรารถนาที่จะเดินทางไปยังประเทศและเขตแดนที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดทั่วโลก เขากล่าวว่า ทั่วโลกมีพันธุ์ข้าวโพดกว่า 300 ชนิด แต่ที่นำมาใช้เพาะปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศจีนนั้นมีเพียง 3 - 4 ชนิดเท่านั้น ซึ่งการสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์ข้าวโพดและการแพร่กระจายพันธุ์ที่กระจุกตัว กลายเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขในขณะนี้

เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ศาสตราจารย์ฟาน ได้เดินทางไปยังประเทศและเขตแดนที่มีการเพาะปลูกข้าวโพดถึง 2 ใน 3 ของพื้นที่ทั่วโลก เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีการเพาะปลูกที่ทันสมัย นำเข้าพันธุ์ข้าวโพดล็อตใหญ่ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงและปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งข้าวโพดที่เขาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นนั้นเมื่อนำไปเพาะปลูกในอิหร่าน เนปาล ภูฏาน อินเดีย และเมียนมาแล้ว มีความโดดเด่นทั้งด้านการให้ผลิตผลที่ดี แถมยังทนแล้งและทนโรคด้วย

“เด็กอายุ 11 ขวบคนหนึ่ง สูงไม่ถึง 1 เมตร เพราะขาดสารอาหาร จึงทำให้เขาดูแตกต่างจากเด็กวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด”  ภาพที่เคยเห็นเมื่อหลายปีก่อนในชนบทอันห่างไกลของแคว้นปกครองตนเองชนชาติม้งชนชาติจ้วงเหวินซาน ยังจำติดตาศาสตราจารย์ฟาน ซิงหมิงจนทุกวันนี้ ทำให้เกิดแรงปรารถนาอันแรงกล้าที่จะนำผลงานวิจัยของเขาตอบแทนให้แก่บ้านเกิด

นับตั้งแต่นั้น ศาสตราจารย์ฟาน ซิงหมิง ก็เลือกหัวข้อวิจัยที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์ข้าวโพดที่ให้โปรตีนสูงกับพันธุ์ข้าวโพดทานสด เขานำพาคณะวิจัยพัฒนาจนได้ข้าวโพดสายพันธุ์ “หยุนรุ่ย” ซึ่งเหมาะสมกับแหล่งเพาะปลูกในเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน ในจำนวนนี้ พันธุ์ “หยุนรุ่ย 88” ยังทำสถิติผลผลิตต่อไร่สูงสุดในเขตเพาะปลูกบนพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก ส่วนพันธุ์  “หยุนรุ่ย 47” สามารถให้ผลผลิตได้สูงแม้ท่ามกลางภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในยูนนานเมื่อปี พ.ศ. 2555

ลงหลักปักฐาน ณ ที่ราบสูงดินเหลืองมา 40 ปี

เขตอนุรักษ์ธรรมชาติทุ่งหญ้าหยุนอู้ซาน (เรียกย่อ ๆ ว่า เขตหยุนอู้ซาน) ตั้งอยู่ในเมืองกู้หยวน เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ยระบบนิเวศที่นี่ย่ำแย่ ดินจืด ที่ผ่านมาเกษตรกรลงทุนลงแรงปลูกอะไรก็แทบไม่ได้ผลผลิต

อาจารย์เฉิง จีหมิน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิจัยการรักษาทรัพยากรดินและน้ำแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรซีเป่ย ได้มาถึงยังเขตหยุนอู้ซานเมื่อปี พ.ศ. 2522  และตัดสินใจที่จะใช้วิชาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ตนร่ำเรียนมา เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่นี่ใหม่หมด

ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 ถึงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เขตที่ราบสูงดินเหลืองมีบันทึกการเกิดภัยแล้งถึง 236 ครั้ง สำหรับพื้นที่ใจกลางของเขตที่ราบสูงดินเหลืองซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเพียง 430 มิลลิเมตรต่อปีนั้น จะปลูกอะไร และปลูกอย่างไร กลายเป็นปัญหาที่ท้าทายอาจารย์เฉิงสำหรับเขาแล้ว การฟื้นฟูระบบนิเวศในพื้นที่เป็นหนทางการพัฒนาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

จากการต้องเผชิญกับสภาวะที่แต่ละปีฝนตกกระจุกตัว จึงทำให้สูญเสียดินได้ง่าย อาจารย์เฉิงจึงใช้เทคโนโลยีปลูกหญ้าสามมิติในบริเวณที่มีพืชไม่ถึง 30% ซึ่งช่วยลดความเร็วของน้ำที่ไหลบ่าเวลาฝนตกหนัก ป้องกันการสูญเสียดินและน้ำ สำหรับภูเขาที่มีพื้นที่ป่ามากกว่า 30% จะใช้วิธีกั้นเป็นเขตปิดตามธรรมชาติ เพื่อลดกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในพื้นที่ และฟื้นคืนพื้นที่ป่า

จากที่ตั้งสถาบันวิจัยไปถึงเขตหยุนอู้ซานมีระยะทางกว่า 380 กิโลเมตรอีกทั้งครึ่งหนึ่งเป็นทางภูเขา ในยุคที่การคมนาคมยังล้าหลัง อาจารย์เฉิง ต้องใช้เวลาเดินทางไปครั้งละ 2 - 3 วัน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ อาจารย์เฉิงเดินทางไปกลับปีละ 10 กว่าเที่ยว โดยทำงานอยู่ในพื้นที่ 180 กว่าวัน จนถึงปัจจุบัน เขาเดินทางไปกลับแล้วไม่ต่ำกว่า 600 เที่ยว คิดเป็นระยะทางกว่า 500,000  กิโลเมตร

“เป็นนักวิทยาศาสตร์ ต้องทำงานหนักเหมือนวัวเหมือนควาย ต้องพร้อมที่จะอุทิศตนเสมอเหมือนที่ทุ่งนาทำให้แก่เรา”

อาจารย์เฉิงยังอาศัยการวิเคราะห์โครงสร้างดิน วิจัยจนได้เทคโนโลยีการเพาะปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์โดยเปลี่ยนจากหว่านเมล็ดพันธุ์ในฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูใบไม้ร่วง ทำให้กำลังผลิตหญ้าเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่จากเริ่มต้นได้ผลผลิต 720 ตันหญ้าแห้งต่อ 1 ไร่ เพิ่มเป็น 2,640 ตันต่อ 1 ไร่ เขายังพิถีพิถันในการทดลองวิจัยอาหารที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์ ซึ่งโดยเฉลี่ยสามารถประกันได้ว่าแต่ละครัวเรือนจะมีอาหารเพียงพอแก่การเลี้ยงวัว 3 - 5 ตัว แพะ 20 ตัว แต่ละปีจะสร้างรายได้ให้แต่ละครัวเรือนมากกว่า 40,000 หยวน

40 ปีผ่านไป อาจารย์เฉิงจากเด็กหนุ่มกลายเป็นลุงวัย 60 กว่าปี ขณะที่เขตหยุนอู้ซานจากเขตดินจืดกลายเป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติและเขตท่องเที่ยว ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านจากแต่ก่อนที่พึ่งพาเพียงการเลี้ยงสัตว์ ก็เปลี่ยนไปทำสวนผลไม้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่หลากหลาย ซึ่งค่อย ๆ ทำให้ชาวบ้านก้าวสู่หนทางขจัดความยากจน

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006