ไฮไลท์การใช้แพทย์แผนจีนสู้โควิด - 19

2020-10-20 15:31:25 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด - 19) นับเป็นเหตุการณ์ด้านสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่อุบัติขึ้นอย่างกะทันหัน มีลักษณะการแพร่ระบาดที่รวดเร็วที่สุด แพร่กระจายวงกว้างที่สุด และป้องกันการแพร่ระบาดได้ยากที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน การมีส่วนร่วมของแพทย์แผนจีนก็มีระดับเข้มข้นและแพร่หลายมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านแพทย์แผนจีนเกือบ 800 คน และแพทย์พยาบาลอีกเกือบ 5,000 คนที่เข้าร่วมภารกิจช่วยชีวิตและรักษาพยาบาลยังแนวหน้า ถึงแม้ว่าจำนวนบุคลากรที่เข้าร่วมจะมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 10 ของคณะแพทย์พยาบาลที่ไปสนับสนุนทั้งหมด แต่กลับจารึกไว้เป็นส่วนสำคัญของวิธีการรักษาโรคโควิด - 19 ของประเทศจีน

ภายใต้ภาวะที่ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาเฉพาะโรค แพทย์แผนจีนได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นคณะใหญ่ครั้งแรกเพื่อเข้าร่วมการรักษาตั้งแต่ระยะแรก เป็นครั้งแรกที่ใช้แพทย์แผนจีนบริหารจัดการงานทั้งโรงพยาบาล ครั้งแรกที่รับหน้าที่ดูแลเขตโรคระบาดแบบบูรณาการ ครั้งแรกที่แพทย์แผนจีนและแผนปัจจุบันร่วมกันตรวจวินิจฉัยและเยี่ยมไข้ ครั้งแรกที่เข้าร่วมกระบวนการรักษาผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤติอย่างลึกซึ้ง จนนำไปสู่วิธีรักษาพยาบาลที่ใช้จุดเด่นของแพทย์แผนจีนและผสมผสานเข้ากับแพทย์แผนตะวันตกโดยใช้แพทย์แผนจีนตลอดขั้นตอนตั้งแต่การป้องกันรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วย จากสถิติพบว่า ในบรรดาผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ของจีน มีการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนถึงกว่าร้อยละ 90 ในจำนวนนี้รักษาได้ผลมากกว่าร้อยละ 90

หาคำตอบจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีต

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่เคยเกิดขึ้นในร่างกายมนุษย์มาก่อน ภายใต้สภาวะที่ยังไม่รู้ต้นตอของเชื้อ ยังไม่มีวัคซีนและยารักษาเฉพาะโรค แพทย์แผนจีนสามารถเอาชนะโรคระบาดนี้ได้อย่างไร

การใช้ศาสตร์การแพทย์จีนรักษาโรคระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมาแล้วนับพันปี จาก “บันทึกประวัติศาสตร์โรคระบาดจีน” ซึ่งเรียบเรียงโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แพทย์แผนจีนระบุว่า ในประวัติศาสตร์ของประเทศจีนเคยเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ขึ้นอย่างน้อย 321 ครั้ง การถูกโรคระบาดโจมตีครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้แพทย์แผนจีนได้สั่งสมประสบการณ์และตำรับยาที่มีประสิทธิผลอันล้ำค่า

การรับมือกับโรคโควิด - 19 ครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน อาทิ นพ.จาง ป๋อหลี่ (张伯礼) รัฐบัณฑิตแห่งบัณฑิตยสภาด้านวิศวกรรมศาสตร์แห่งชาติจีน นพ.หลิว ชิงเฉวียน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนปักกิ่ง ต่างระบุว่า ในทัศนะของศาสตร์การแพทย์จีน โควิด - 19 มีลักษณะตรงกับ “พิษจากความชื้น” (คือโรคระบาดที่มีสาเหตุมาจาก “ความชื้น” ในร่างกาย) ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ในช่วงระยะแรกของการแพร่ระบาด สำนักงานกำกับกิจการแพทย์แผนจีนแห่งชาติจีนได้วิจัยและนำเสนอวิธีการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน โดยถูกบรรจุไว้ในวิธีการรักษาโรคโควิด - 19  ฉบับใหม่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (ทดลองฉบับที่ 3) พร้อมทั้งประกาศให้ใช้โดยทั่วไป ผลักดันให้ใช้แพทย์แผนจีนตั้งแต่ระยะแรกผสมผสานทั้งวิธีรักษาแบบจีนและตะวันตกสำหรับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤติ ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีนและสำนักงานกำกับกิจการแพทย์แผนจีนได้จัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อคอยปรับแก้วิธีการรักษาตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค คอยสรุปประสบการณ์มาตรการและวิธีการรักษาที่ได้ผล ตลอดจนสรุปผลงานใหม่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์ โดยได้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการรักษาถึง 7 ฉบับ ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน ทำให้การรักษาด้วยแพทย์แผนจีนสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดได้อย่างตรงจุดและได้ผลมากขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากวิธีการรักษาระดับประเทศแล้ว ยังได้ผสมผสานให้เข้ากับสภาพร่างกายและภูมิอากาศที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่ด้วย โดยมณฑลต่าง ๆ รวม 24 แห่งในจีน เช่น เจ้อเจียง กานซู่ หูหนาน นครเทียนจิน และกรุงปักกิ่ง ได้ประกาศแนวทางการใช้แพทย์แผนจีนประกอบสำหรับท้องถิ่น ซึ่งมีเนื้อหาที่ละเอียดมากขึ้น ครอบคลุมผู้คนในวงกว้างขึ้น “วิธีการรักษาโรคโควิด - 19 ด้วยแพทย์แผนจีนของมณฑลกว่างตง สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการรักษาที่ผสมผสาน 3 ปัจจัยทั้งด้านเวลา สถานที่ และผู้คนเข้าด้วยกัน” พญ.หลิน หลิน ผู้อำนวยการแผนกโรคปอด โรงพยาบาลแพทย์แผนจีนมณฑลกว่างตงกล่าวมณฑลกว่างตงได้กำหนดแผนการรักษาที่แตกต่างจากทั่วประเทศจีนแต่มีลักษณะเฉพาะเหมาะกับกว่างตง

ผนึกกำลังแพทย์แผนจีน พิชิตชัย “3 ศูนย์”

แผนกผู้ป่วยนอกเต็มไปด้วยผู้ป่วยอาการไข้ โรงพยาบาลรับภาระอย่างหนัก ผู้ป่วยแออัดกันแทบทะลักโรงพยาบาล...... นพ.จาง ป๋อหลี่ ก็ยังจดจำภาพเหตุการณ์วันที่นำทีมคณะแพทย์แผนจีนไปถึงเมืองอู่ฮั่นมณฑลหูเป่ยได้จนถึงทุกวันนี้

“ผู้ป่วยแต่ละคนต่างก็มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน” นี่เป็นจุดเด่นของการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนสำหรับแต่ละบุคคล แต่เมื่อต้องเผชิญกับผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นไข้เหมือน ๆ กัน มีสาเหตุของโรคแบบเดียวกัน จึงต้องศึกษาและปฏิบัติจากประสบการณ์ของคนยุคโบราณใช้ตำรับยาสามัญในการรักษา โดยนพ.จาง ป๋อหลี่ ได้เสนอให้แบ่งคนออกเป็น 4 ประเภท (ผู้ป่วยยืนยันผู้ที่มีอาการไข้ ผู้สงสัยว่าติดเชื้อและผู้ที่อยู่ระหว่างเฝ้าสังเกตอาการ) เพื่อใช้วิธีบริหารจัดการและกักตัวส่วนกลาง (State Quarantines) ที่แตกต่างกัน สำหรับผู้ป่วยกักตัวส่วนกลางที่มีไข้และสงสัยว่าจะติดเชื้อ ให้รักษาด้วยวิธีรับประทานยาจีน โดยใช้ยาต้มสำเร็จรูปบรรจุถุงสูตรที่ใช้รักษา “พิษจากความชื้น” เป็นหลักซึ่งคำแนะนำที่ตรงจุดและปฏิบัติได้จริงนี้ ได้กลายเป็นนโยบายสำคัญในการต่อสู้ป้องกันโรคโควิด - 19 ของจีน

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เพื่อที่จะบรรลุมาตรการ “รับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด รักษาหายให้ได้มากที่สุด” คณะกรรมการกำกับส่วนกลางตัดสินใจก่อสร้างโรงพยาบาลสนามสำหรับรักษากลุ่มผู้ป่วยโควิด - 19อาการไม่หนัก นับตั้งแต่เปิดโรงพยาบาลสนามแพทย์แผนจีนเจียงเซี่ยที่เมืองอู่ฮั่น นพ.จาง ป๋อหลี่ และนพ.หลิว ชิงเฉวียนได้นำคณะแพทย์พยาบาลด้านแพทย์แผนจีนจากมณฑลต่าง ๆ ได้แก่ เจียงซู หูหนาน เหอหนาน ส่านซี และนครเทียนจิน เข้าประจำการยังโรงพยาบาลสนามดังกล่าว โดยใช้วิธีรักษาที่ผสมผสานแพทย์แผนจีนกับแผนปัจจุบัน ทั้งนี้ โรงพยาบาลสนามเจียงเซี่ยได้ปิดทำการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2063 ตลอด 26 วันที่เปิดดำเนินการ ได้รักษาผู้ป่วยรวม 564 ราย รักษาหาย 392 ราย โดยได้สร้างสถิติ 3 ศูนย์ คือ “ผู้ป่วยอาการหนักขึ้นเป็นศูนย์ ผู้ที่หายแล้วป่วยซ้ำเป็นศูนย์ และแพทย์พยาบาลติดเชื้อเป็นศูนย์”

นพ.จาง ป๋อหลี่ระบุว่า ยาจีนช่วยลดอัตราที่ผู้ป่วยอาการน้อยจะกลายเป็นผู้ป่วยหนัก ส่วนการรักษาโดยผสมผสานแพทย์แผนจีนกับแผนตะวันตกช่วยลดอัตราเสียชีวิตของผู้ป่วยหนัก

ตำรับยาโบราณเก่าแก่ แต่ยังใช้ได้ผล

หลายปีมานี้ การรับมือกับโรคอุบัติใหม่และโรคติดเชื้อใหม่ของจีน ได้อาศัยตำรับยาโบราณเป็นพื้นฐาน สร้างสรรค์เป็นยาแผนใหม่จำนวนมาก เช่น ในปี พ.ศ. 2546 ช่วงโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ได้คิดค้นยาเหลียนฮวาชิงเวิน และในการรับมือกับโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้ผลิตยาจินฮวาชิงก่าน ฯลฯ

เมื่อพิจารณาจากลักษณะเฉพาะของการแพร่ระบาดโรคโควิด - 19 บรรดาผู้เชี่ยวชาญได้ “รักษา - สรุป - ปรับปรุงแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน” อาศัยผลการรักษาทางคลินิก ค่อย ๆ คัดเลือกวิธีการรักษาที่ได้ผล ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการต่อสู้กับโรคระบาดนี้

ทั้งนี้ หนึ่งในวิธีการรักษาที่ได้ผลคือใช้ยาต้มล้างปอดขับพิษ ซึ่งเกิดจากการพัฒนาผสมผสานตำรับยาโบราณที่ระบุไว้ในตำรา “โรคไข้จากความเย็น” ซึ่งแต่งขึ้นโดยจาง จ้งจิ่ง (张仲景) หมอชื่อดังในสมัยโบราณของจีน ในเอกสาร “วิธีการรักษาโรคโควิด - 19 (ทดลองฉบับที่ 7)” ยาต้มล้างปอดขับพิษได้ถูกกำหนดให้เป็นตัวเลือกแรกในระยะการรักษาทางคลินิกด้วยแพทย์แผนจีน ในการแถลงข่าวว่าด้วยกลไกความร่วมมือเพื่อป้องกันและควบคุมโรคของสำนักนายกรัฐมนตรีจีน นพ.หวัง เหว่ย รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนปักกิ่งระบุว่า ยาต้มล้างปอดขับพิษเป็นตำรับยาสามัญที่ใช้รักษาโรคโควิด - 19 ไม่เพียงแต่สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย ผู้ป่วยทั่วไป และผู้ป่วยหนักเท่านั้น ยังสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยวิกฤติด้วย

นอกจากนั้น การใช้ยาต้มล้างปอดขับพิษรักษา 1 คอร์ส จะมีค่าใช้จ่ายเพียง 100 หยวน (ราว 450 บาท)เท่านั้น ซึ่งจากประกาศของสำนัก-งานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจีนระบุว่า ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด - 19 ที่มีอาการหนัก 1 รายต้องใช้เงินมากกว่า 150,000 หยวน (ราว 675,000 บาท) ดังนั้น การใช้ยาจีนจึงช่วยประหยัดค่ารักษาโรคโควิด - 19 อย่างมาก

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006