“โรงอาหาร” ของช้างเอเชีย

2020-07-29 15:29:39 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

ด้วยมาตรการการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ของจีนที่เข้มงวดขึ้น ในช่วง 30 ปีมานี้ ปริมาณช้างป่าเอเชียมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แต่ “ความปวดหัวที่หอมหวาน” ก็ตามมา เนื่องจากมาตรการอนุรักษ์ที่เข้มข้นขึ้น การทำลายป่าจากมนุษย์ลดน้อยลง ความหนาแน่นของป่าได้เพิ่มมากเขึ้น พืชป่าซึ่งเป็นอาหารหลักของช้างในเขตอนุรักษ์ อาทิ กล้วยป่า หญ้าตองกง ก็ค่อย ๆ แทนที่ด้วยไม้ยืนต้น “อาหารในเขตอนุรักษ์ลดน้อยลง ช้างป่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ปริมาณการบริโภคก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ช้างจำนวนไม่น้อยต้องออกไปหาอาหารนอกเขตอนุรักษ์ เมื่อพื้นที่ทำกินของมนุษย์กับช้างทับซ้อนกัน ปรากฏการณ์ ‘ขัดแย้งกันระหว่างมนุษย์กับช้าง’ ก็ยากจะหลีกเลี่ยงได้” นายเฉิน หมิงหย่ง ศาสตราจารย์ประจำศูนย์วิจัยช้างเอเชีย มหาวิทยาลัยยูนนานกล่าวว่า ปัจจุบัน มีช้างป่าประมาณ 2 ใน 3 ที่ออกไปหากินนอกเขตอนุรักษ์

จากที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับช้างเอเชียมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี นายเฉิน หมิงหย่ง พบว่า พฤติกรรมบางอย่างของช้างป่าในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป เขากล่าวว่า “ยกตัวอย่างเช่น การหาอาหาร เดิมทีช้างเพียงแค่แอบไปขโมยกินพืชพันธุ์ตามไร่นาของชาวบ้านเพียงบางส่วน ต่อมา พวกมันรู้ว่าไร่นาส่วนใหญ่จะอยู่ติดกันหลายผืน ทำให้หาอาหารกินอิ่มท้องได้ง่าย ดังนั้น จึงมักเดินวางมาดหาอาหารกินในไร่นาอย่างเต็มที่”

กินพืชเกษตรในไร่นา ทำลายบ้านเรือน คุกคามความปลอดภัยของชีวิตชาวบ้าน สถานการณ์ “ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้าง” ในมณฑลยูนนานรุนแรงยิ่งขึ้น จากสถิติของกรมป่าไม้และทุ่งหญ้ามณฑลยูนนาน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 เป็นต้นมา ช้างเอเชียก่อเรื่องทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 60 กว่าคน ระหว่างปี ค.ศ. 2011 ถึง 2018 ช้างป่าก่อให้เกิดความเสียหายในทรัพย์สินเกินกว่า 170 ล้านหยวน

เพื่อผ่อนคลาย “ความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้าง” แคว้นสิบสองพันนาและเมืองผูเอ่อจึงได้เริ่มสร้างแหล่งอาหารให้กับช้างเอเชียในแคว้นสิบสองพันนา ช่วงประมาณเดือนธันวาคมแต่ละปี สำนักงานอนุรักษ์จัดการเขตอนุรักษ์ธรรมชาติแห่งชาติสิบสองพันนาจะจัดให้เจ้าหน้าที่หลายสิบคนเข้าไปในป่า พวกเขาจะทำงานอยู่ในนั้นหลายวันติดต่อกัน เพื่อกำจัดพืชพันธุ์ที่รุกรานและขึ้นไม่เป็นระเบียบทิ้ง เช่น ดอกทานตะวันเม็กซิกัน ต้นสาบเสือ หลายเดือนหลังจากนั้น พวกเขายังต้องเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวอีกหลายครั้ง พยายามถอดรากถอนโคนรากพืชที่รุกรานในป่าให้หมดไป และปลูกต้นปอสา ต้นกล้วย ต้นตองกง ไม้ไผ่ เป็นต้น ซึ่งเป็นอาหารโปรดของช้างเอเชียแทน

คนในพื้นที่เรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “โรงอาหารของช้าง” โดยหวังว่า การปลูกพืชธรรมชาติที่ช้างเอเชียชื่นชอบเหล่านี้ จะช่วยดึงดูดให้ช้างอยู่ในป่าและอยู่ออกห่างจากหมู่บ้านได้นานยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยลดการทำลายพืชเพาะปลูกของชาวนาชาวสวนบริเวณหมู่บ้านรอบเขตอนุรักษ์ สำหรับเขตอนุรักษ์แล้วการทำเช่นนี้ นอกจากจะลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับช้างแล้ว เนื้อแท้ของงานนี้ก็เป็นการทดลองฟื้นฟูที่พักพิงของช้างเอเชียและป่าฝนไปในตัวด้วย

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006