“พ่อช้าง” ในยูนนาน

2020-07-29 15:17:30 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

“อุณหภูมิร่างกาย 37.6 องศา อัตราการเต้นของหัวใจ 42 บนร่างกายไม่มีร่องรอยบาดแผล... ทุกอย่างเป็นปกติดี” คุณเป่า หมิงเหวย เจ้าหน้าที่ของศูนย์เพาะพันธุ์และช่วยชีวิตช้างเอเชียแห่งประเทศจีน กำลังตรวจร่างกายประจำวันให้กับ “เสี่ยวเฉียง” ช้างเอเชียตัวหนึ่ง

ศูนย์เพาะพันธุ์และช่วยชีวิตช้างเอเชียแห่งประเทศจีน ตั้งอยู่ที่แคว้นปกครองตนเองชนชาติไต สิบสองพันนามณฑลยูนนาน โดยมีหน้าที่หลักในการทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการผสมพันธุ์เทียมของช้างเอเชีย ช่วยเหลือช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บและงานอื่น ๆ เกี่ยวกับช้างป่า ที่นี่มีวีรบุรุษนิรนามอยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งใคร ๆ ก็เรียกพวกเขาว่า “พ่อช้าง” ในแต่ละวัน บรรดา “พ่อช้าง” จะใช้ชีวิตอยู่ในหุบเขาช้างป่ามากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง คลุกคลีอยู่กับช้างเอเชียที่ได้รับการช่วยชีวิตกลับมา พวกเขาจะดูแลความเป็นอยู่ของช้างทุกขั้นตอน ตั้งแต่การทำความสะอาดมูลช้าง การอาบน้ำให้ช้าง การฝึกช้างป่าเอเชียที่ได้รับการช่วยชีวิตให้รู้จักการเอาตัวรอดในป่า เพื่อให้พวกมันสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมธรรมชาติในป่า และการเตรียมตัวเพื่อกลับคืนสู่ธรรมชาติ

ช้างเอเชียที่ได้รับการช่วยเหลือเหล่านี้ มีลูกช้างที่ได้รับบาดเจ็บจากกับดักเหล็ก แม่ช้างที่บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ช้างพลายที่บาดเจ็บเนื่องจากการต่อสู้เพื่อแย่งชิงช้างเพศเมีย ช้างที่ถูกโขลงช้างทอดทิ้ง และช้างกำพร้า... ช้างเหล่านี้ได้รับบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจ ถูกนำมาหุบเขาช้างป่าพร้อมกับความหวาดกลัวและเจ็บปวด แต่ที่นี่ บรรดา “พ่อช้าง” คอยให้การดูแลและให้ความอบอุ่นช่วยรักษาบาดแผลให้ “พ่อช้าง” คอยมอบมิตรภาพและความห่วงใยหวังว่าพวกมันจะมีชีวิตรอดต่อไป

คุณเป่า หมิงเหวย เป็น “พ่อช้าง” คนแรกในศูนย์ ฯ แห่งนี้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เขาได้ช่วยชีวิตช้างป่าเอเชียมาแล้วมากกว่า 20 ตัว “การช่วยเหลือช้างป่าเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบากมาก เพราะพวกมันมีขนาดรูปร่างที่ใหญ่ ช้างเอเชียที่โตเต็มวัยมีน้ำหนักมากกว่า 2 ตัน และบางครั้งยังทำร้ายคนอีกด้วย” คุณเป่ากล่าว

การช่วยเหลือช้างป่าส่วนใหญ่นั้นจะได้รับข้อมูลจากชาวบ้านในท้องถิ่น หลังจากได้รับเบาะแสแล้วเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือมืออาชีพจะรีบไปยังที่เกิดเหตุเพื่อดำเนินการช่วยเหลือทันที “ช้างบางตัวได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ บางตัวได้รับบาดเจ็บจากการตกเหว หรือไม่ก็ป่วยเป็นโรคที่มีมาแต่กำเนิดเช่นโรคหัวใจแล้วถูกช้างผู้ใหญ่ทอดทิ้ง” คุณเป่าเล่าว่า ช้างพวกนี้ฉลาดมาก จงใจวางลูกช้างที่ป่วยไว้ใกล้หมู่บ้านที่มีคนอาศัยอยู่ โดยหวังว่าจะมีมนุษย์มาช่วยเหลือลูกช้าง “หลังจากพิจารณาอาการบาดเจ็บของช้างและสถานการณ์โดยรวม เราจะส่งทีมกู้ภัยที่มีขนาดเหมาะสม หรือบางครั้งก็ต้องใช้เครนและเฮลิคอปเตอร์เข้าช่วย”

ในพื้นที่ห่างไกล เหล่าบรรดา “พ่อช้าง” ต้องสร้างถนนเพื่อช่วยเหลือชีวิตช้างเอเชียออกมา คุณเป่าเล่าว่า “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการช่วยเหลือในยามค่ำคืน ความมืดมิดที่แม้แต่นิ้วมือของคุณก็ไม่สามารถมองเห็นได้ ในป่าไฟฉายเป็นเพียงเครื่องมือให้แสงสว่างเดียวที่เราสามารถพึ่งพาได้เท่านั้น” ช้างที่บาดเจ็บเล็กน้อยจะถูกส่งกลับไปยังป่าในไม่ช้าหลังจากฟื้นตัวแต่ช้างที่มีสภาพโดยรวมไม่เหมาะที่จะกลับคืนสู่ป่า ก็จะต้องทำการรักษา และอยู่ภายใต้การช่วยเหลือของศูนย์ ฯ ต่อไป “ภายในศูนย์ช่วยเหลือ ช้างแต่ละตัวจะได้รับการดูแลจาก “พ่อช้าง” 2 คน ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน “พ่อช้าง” จะพาช้างไปที่ป่าเพื่อฝึกการใช้ชีวิต เพื่อให้พวกมันสามารถปรับตัวเข้ากับการใช้ชีวิตในป่าให้ได้” คุณเป่ากล่าว

ที่น่าสนใจก็คือ คุณเป่ามักจะต้องตรวจสุขภาพปากและฟันของช้าง ดังนั้น เขาจึงต้องใช้กล้วยเพื่อหลอกล่อให้ช้างอ้าปาก ต้องตรวจวัดอุณหภูมิของช้างและมูลของช้างเพื่อให้มั่นใจว่าพวกมันแข็งแรง จากข้อมูล ช้างที่ถูกช่วยเหลือจะได้รับการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดทุก ๆ 6 เดือน คุณเป่าเล่าว่า “ช้างก็เหมือนกับเด็ก ช้างบางตัวไม่ชอบหมอเพราะหมอเคยฉีดยาเมื่อพวกมันป่วย”

ในความคิดของคุณเป่า การปกป้องช้างเอเชียจำเป็นต้องมีแพทย์ช้างมืออาชีพจำนวนมากขึ้น “ในประเทศจีนปัจจุบันมีแพทย์ช้างมืออาชีพน้อยกว่า 10 คน หากมีผู้สนใจในสาขานี้มากขึ้นการป้องกันและช่วยเหลือช้างเอเชียจะประสบความสำเร็จได้ดีขึ้น”

ในอีกทางหนึ่ง ศูนย์เพาะพันธุ์และช่วยชีวิตช้างเอเชียแห่งประเทศจีน ได้ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการคุ้มครองและช่วยเหลือช้างเอเชีย และยังได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นมิตรกับสมาคมวิชาชีพหลายแห่ง เช่น กองทุนระหว่างประเทศเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ International Fund for Animal Welfare (IFAW) และสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน Zoological Society of London (ZSL) เป็นต้น และจัดตั้งกลไกในการแลกเปลี่ยนเยี่ยมชมกับองค์กรและสถาบันคุ้มครองช้างในประเทศไทย ลาว เมียนมา สิงคโปร์ ศรีลังกา เคนยา และประเทศอื่น ๆ พยายามที่จะเผยแพร่แนวคิดการอนุรักษ์หุบเขาช้างป่าผ่านการแลกเปลี่ยนที่เป็นมิตรเหล่านี้

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006