"กระแสภาษาจีน" สะท้อนถึง "กระแสความร่วมมือจีน-อาหรับ"
เมื่อปีที่แล้ว คลิปสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกลุ่มนักศึกษาชาวซาอุดิอาระเบียใช้ภาษาจีนจัดการประชุมโด่งดังขึ้นมาบนโซเชียลมีเดียต่างประเทศ ในคลิปเราจะเห็นนักเรียนจากโรงเรียนกษัตริย์บาฮาฟาฮัดในซาอุดิอาระเบียใช้ภาษาจีนจัดการประชุมในตอนเช้า และมีนักเรียนอีกคนหนึ่งเป็นล่าม ซึ่งปกติแล้วการประชุมของกลุ่มประเทศอาหรับจะเคร่งครัดในการใช้ภาษาอาหรับเท่านั้น ดังนั้น คลิปสั้นดังกล่าวจึงดึงดูดความสนใจจากชาวเน็ตเป็นจำนวนมาก และยังได้รับการรายงานจากสื่อประเทศอื่น ๆ อีกด้วย เช่น หนังสือพิมพ์กัลฟ์นิวส์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รายงานว่า การใช้ภาษาจีนจัดการประชุมตอนเช้าเป็นแนวทางปฏิบัติที่สร้างสรรค์ ซึ่งริเริ่มโดยหน่วยงานศึกษาธิการซาอุดิอาระเบียเพื่อเร่งปฏิบัติการเรียนการสอนภาษาจีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะภาษาจีนของนักเรียน ทั้งนี้ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจํานวนมากต่างสนับสนุนและให้กําลังใจต่อการใช้ภาษาจีนจัดการประชุมช่วงเช้าดังกล่าว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา "กระแสภาษาจีน" ยังคงร้อนแรงในกลุ่มประเทศอาหรับ หลายคนสามารถเขียน "ตัวอักษรจีน" ได้และชอบที่จะพูดภาษาจีน อย่างเช่น ในโมร็อกโก Dina หญิงสาวที่เกิดในยุค 90 ซึ่งร้องเพลงจีนเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตทำให้มีผู้ติดตามอย่างมากมาย Yahya ชาวอียิปต อาจารย์หนุ่มประจำภาควิชาภาษาจีนของมหาวิทยาลัยคลองสุเอซ ด้วยความชื่นชอบวรรณกรรมจีน ดังนั้น ในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาเขาได้แปลและตีพิมพ์หนังสือภาษาจีนออกมาจํานวนมาก ส่วนเสี่ยวอ้าย ชายหนุ่มชาวจอร์แดน หลังจากที่ได้ไปเรียนที่ประเทศจีน เขาก็ชื่นชอบประเทศจีนมาก และในที่สุดก็เลือกทํางานอยู่ที่มณฑลกานซู่...... เรื่องราวที่คล้ายกันยังมีอีกมากมาย และสิ่งน่าสังเกตก็คือปัจจุบันกลุ่มประเทศอาหรับมี "ห้องเรียนภาษาจีน" มากขึ้นเรื่อย ๆ
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 สถาบันขงจื๊อแห่งมหาวิทยาลัยปรินซ์สุลต่าน ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยปรินซ์สุลต่านในซาอุดีอาระเบียและมหาวิทยาลัยเซินเจิ้น และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเมืองริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นสถาบันขงจื๊อแห่งแรกของซาอุดีอาระเบียที่เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน ในกลุ่มประเทศอาหรับอื่น ๆ ก็มีสถาบันขงจื๊อและห้องเรียนขงจื๊อเกิดขึ้นอีกหลายแห่ง
นอกจากสถาบันขงจื๊อที่ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างประเทศจีนและต่างประเทศแล้ว กลุ่มประเทศอาหรับหลายประเทศยังได้เพิ่มสัดส่วนการเรียนภาษาจีนให้อยู่ในระบบการศึกษาอีกด้วย ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และตูนิเซีย ได้จัดให้ภาษาจีนให้เข้าอยู่ในระบบการศึกษาแล้ว
แหล่งที่มา:หนังสือพิมพ์The People's Daily
โกว เสี่ยวหรง/แปล
จารุวรรณ อุดมทรัพย์/พิสูจน์อักษร