บทวิเคราะห์ : จีนส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “1 แถบ 1 เส้นทาง” อย่างแข็งขัน
ในช่วงสิบปีนับตั้งแต่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเสนอแนวคิดข้อริเริ่มการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”เป็นต้นมา จีนได้ส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศที่ร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”อย่างแข็งขัน และได้นำผลประโยชน์ที่จับต้องได้มาสู่ประเทศเหล่านั้น
มีตัวอย่างมากมายนับไม่ถ้วนที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ได้นำมาซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและการเพิ่มความรู้สึกได้ประโยชน์ให้กับประเทศที่ร่วม
เช่น ด้านความมั่นคงทางอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Agricultural Sciences)ได้เดินทางไปยังประเทศโกตดิวัวร์ บัลแกเรีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ เพื่อดำเนินการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีข้าวลูกผสม และเชิญตัวแทนจากประเทศต่างๆ ให้มารับการฝึกอบรมในจีน ซึ่งได้ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีข้าวลูกผสมอย่างแพร่หลายในประเทศที่เข้าร่วม
ด้านการขนส่ง อุโมงค์คามชีก (Qamchiq) ในอุซเบกิสถานที่สร้างโดยบริษัทจีน ได้ย่นระยะเวลาการเดินทางจากฟาร์ฆอนาไปยังเมืองหลวงทาชเคนต์จากหนึ่งวันเหลือเพียงสามชั่วโมง ซึ่งได้เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนในท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในเมืองชิมเคนต์ (Shymkent) ประเทศคาซัคสถาน ด้วยการดำเนินการปรับปรุงโรงกลั่นชิมเคนต์ให้ทันสมัย ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือที่สำคัญระหว่างจีน-คาซัคสถานในการร่วมสร้าง“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มลพิษที่ปล่อยออกมาจากโรงกลั่นลดลงถึงประมาณ 90% ลดการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ประมาณ 30,000 ตัน ความสามารถในการแปรรูปน้ำมันดิบก็ยกระดับสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้โรงกลั่นชิมเคนต์เข้าสู่รายชื่อโรงกลั่นสีเขียวและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทั้งยังเป็นการสิ้นสุดประวัติศาสตร์ที่คาซัคสถานไม่สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพสูงได้อีกด้วย
ด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ระบบนำทางดาวเทียมเป๋ยโต่วที่ให้บริการทั่วโลกได้ให้บริการระบุตำแหน่งแบบเร่งความเร็วและความแม่นยำสูงด้วยระบบเป๋ยโต่วแก่กว่า 200 ประเทศและภูมิภาค ซึ่งรวมถึงประเทศต่างๆ ที่ร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ด้วย ได้ช่วยยกระดับการสื่อสารโทรคมนาคมในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ตามสถิติ ปัจจุบันจีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างรัฐบาลกับประเทศต่างๆ กว่า 80 ประเทศที่ร่วม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ได้สร้างห้องปฏิบัติการร่วม“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” มากกว่า 50 แห่ง ได้สร้างศูนย์สาธิตเทคโนโลยีการเกษตรมากกว่า 20 แห่ง และพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศมากกว่า 70แห่ง ได้สร้างศูนย์ถ่ายโอนเทคโนโลยีข้ามชาติ 9 แห่ง ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนและเชื่อมต่อเทคโนโลยีมากกว่า 300 ครั้ง และได้ส่งเสริมการดำเนินโครงการความร่วมมือมากกว่า 1,000 โครงการ
มีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 3 ได้ประกาศปฏิบัติการ 8 ประการของจีนในการสนับสนุนการร่วมสร้าง"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"อย่างมีคุณภาพสูง ซึ่งประการที่ห้าก็คือการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' ต่อไป และจัดการประชุมแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 'หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง' ครั้งแรก”
จากนั้นผ่านไปไม่ถึงหนึ่งเดือน การประชุมแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งแรกก็จัดขึ้นที่นครฉงชิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 6-7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายสี จิ้นผิง ได้ส่งจดหมายแสดงความยินดีถึงที่ประชุม ซึ่งสื่อถึงท่าทีที่ชัดเจนและความตั้งใจอันแน่วแน่ของจีนในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม เขาชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังดำเนินการตามแผนปฏิบัติการนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”อย่างลึกซึ้ง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ ทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ เพื่อขุดค้นศักยภาพการเติบโตด้านนวัตกรรม กระตุ้นศักยภาพความร่วมมือด้านนวัตกรรม เสริมสร้างความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนด้านนวัตกรรม ส่งเสริมให้ผลลัพธ์ทางนวัตกรรมเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกประเทศมากยิ่งขึ้น มีส่วนช่วยต่อการพัฒนาอย่างมีคุณภาพสูงของการร่วมสร้าง“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”และส่งเสริมการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ
การประชุมแลกเปลี่ยนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”ครั้งแรกนอกเหนือจากเผยแพร่ผลความร่วมมือด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”เป็นครั้งแรกแล้ว ยังได้เสนอ“ข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ”เป็นครั้งแรกอีกด้วย ส่งเสริมและยึดมั่นแนวคิดความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศที่เปิดกว้าง เป็นธรรม เที่ยงธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และยึดมั่นแนวคิด “วิทยาศาสตร์ไม่มีพรมแดนและเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ” ร่วมกันสร้างประชาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมใน 6 ด้าน ได้แก่ การยึดมั่นในวิทยาศาสตร์ การพัฒนานวัตกรรม ความร่วมมือแบบเปิดกว้าง ความเท่าเทียมและปรองดอง ความสามัคคีและความร่วมมือ และการอำนวยประโยชน์แก่ทุกฝ่ายและได้ชัยชนะร่วมกัน
นอกจากนี้ แผนความร่วมมือพิเศษด้านนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ก็ได้รับการเผยแพร่อย่างเป็นทางการในการประชุมครั้งนี้ด้วย จีนจะเปิดตัวและดำเนินการตามแผนความร่วมมือพิเศษเกี่ยวกับเทคโนโลยีการพัฒนาที่ยั่งยืน การสร้างธุรกิจด้วยนวัตกรรม การบรรเทาความยากจนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศด้านอวกาศ ฯลฯ ในอีก 5ปีข้างหน้า จีนจะขยายจำนวนห้องปฏิบัติการที่สร้างขึ้นร่วมกับฝ่ายต่างๆเป็น 100แห่งเพื่ออัดฉีดพลังขับเคลื่อนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่การพัฒนาของประเทศต่างๆ มากยิ่งขึ้น