บทวิเคราะห์ : จีนส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม”อย่างแข็งขัน
"อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม" เป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศด้านอีคอมเมิร์ซตามข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" โดยใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบอีคอมเมิร์ซของจีนอย่างเต็มที่ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมโมเดลธุรกิจ และขนาดตลาด เป็นต้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ "อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม" และได้บรรลุผลเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เป็นต้นมา หลังผ่านการพัฒนามาเป็นเวลาประมาณ 6 ปี จีนได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมืออีคอมเมิร์ซกับ 30ประเทศ โดยมีหุ้นส่วนความร่วมมือครอบคลุมทั้ง 5 ทวีป ซึ่งรวมถึงหลายประเทศจากภูมิภาคเอเชียเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว ไทย สิงคโปร์ กัมพูชา และเวียดนาม เป็นต้น ภายใต้กลไกความร่วมมืออีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม จีนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนโยบาย การเชื่อมต่อทางอุตสาหกรรม และความร่วมมือระดับท้องถิ่นกับประเทศหุ้นส่วนอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2022 ยอดการนำเข้าและส่งออกอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนระหว่างจีนกับประเทศหุ้นส่วนครองสัดส่วนมากกว่า 30%
ระหว่างนั้นจีนได้จัดกิจกรรมอีคอมเมิร์ซที่มีเอกลักษณ์ต่างๆ เช่น “เทศกาลช้อปสินค้าคุณภาพทวีปแอฟริกาออนไลน์ ” “งานส่งเสริมสินค้ากลุ่มประเทศบริกส์” และ“ศูนย์รวมสินค้าประเทศเอเชียกลางออนไลน์” เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการนำเข้าสินค้าคุณภาพสูงจากประเทศหุ้นส่วน ทำให้สินค้ามากกว่า 100 ชนิดที่มาจากประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะกลายเป็นสินค้ายอดนิยม ในเวลาเดียวกัน จีนสนับสนุนบริษัทอีคอมเมิร์ซให้ก้าวไปสู่นานาประเทศ และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศหุ้นส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ จีนยังได้ดำเนินการฝึกอบรมอีคอมเมิร์ซ และจัดตั้ง “ห้องบรรยายใหญ่บนคลาวด์” เพื่อช่วยให้ประเทศหุ้นส่วนลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลผ่านการลงลึกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงแบ่งปันโมเดลการสร้างนวัตกรรมและประสบการณ์การกำกับดูแลอีคอมเมิร์ซของจีน
ในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดความร่วมมือระหว่างประเทศ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้กล่าวปาฐกถาพิเศษโดยเสนอว่า จีนจะสร้างเขตนำร่องความร่วมมือ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม”และจะเป็นเจ้าภาพจัด “นิทรรศการการค้าดิจิทัลนานาชาติ” ทุกปี โลกภายนอกโดยทั่วไปให้มุมมองว่าการนี้ย่อมส่งเสริมให้ความร่วมมือระหว่างจีนกับประเทศที่ร่วมสร้าง"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"มีความแน่นแฟ้นและมั่นคงยิ่งขึ้นในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึง “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” ด้วยอย่างแน่นอน
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศว่ารัฐบาลจีนได้อนุมัติแผนสร้างเขตนำร่องความร่วมมือ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม”ที่เซี่ยงไฮ้แล้ว โดยเขตนำร่องความร่วมมือนี้จะมุ่งไปที่การสร้างนวัตกรรมด้านกลไกและระบบ การเชื่อมโยงกับกฎเกณฑ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีมาตรฐานสูงระดับสากล และจะเป็นผู้นำในการดําเนินการทดลองอย่างสร้างสรรค์ด้านการขยายบริการข้อมูลระหว่างประเทศ การส่งเสริมให้ดำเนินการค้าแบบดิจิทัล การส่งเสริมการแบ่งปันและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศหุ้นส่วน เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์สาธารณะเชิงระบบมากยิ่งขึ้นให้กับการพัฒนา“อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม”
เขตนำร่องความร่วมมือนี้ยังจะใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของเซี่ยงไฮ้อย่างเต็มที่ในด้านการปฏิรูป การเปิดกว้าง และการสร้างนวัตกรรมเชิงระบบ โดยจะสร้างศูนย์ปฏิบัติการกลางในเขตนำร่องการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้และสร้างศูนย์เผยแพร่และแนะนำในเขตการค้าหงเฉียวตามลำดับ รวมถึงสร้างศูนย์รวมและกระจายสินค้าอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน ยกระดับประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานการบริการและการจัดหาบริการระดับมืออาชีพ ตลอดจนสร้างหอแสดงสินค้าแห่งชาติ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม”
นอกจากนั้น เขตนำร่องความร่วมมือ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” จะสร้างพันธมิตรคลังสมองนานาชาติ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” และศูนย์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตามความต้องการของประเทศหุ้นส่วน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันด้านอุตสาหกรรม ความร่วมมือด้านแพลตฟอร์ม และการแบ่งปันทรัพยากร รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มบริการสาธารณะเพื่อส่งเสริมการพัฒนาร่วมกันของประเทศหุ้นส่วน “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม”
แหล่งข่าวเผยว่านิทรรศการการค้าดิจิทัลนานาชาติครั้งที่ 2 ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองหางโจว ประเทศจีนระหว่างวันที่ 23-27 พฤศจิกายนนี้จะจัดกิจกรรม “วันแห่งอีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” เป็นครั้งแรก ซึ่งรวมถึงการจัดฟอรั่มความร่วมมือระหว่างประเทศ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” จัดตั้งหอนิทรรศการธีมนานาชาติ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” ดำเนินกิจกรรมดูงาน “เอกอัครราชทูตก้าวสู่นิทรรศการการค้าดิจิทัล” และ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหมก้าวสู่เมืองหางโจว”แบบออฟไลน์ และดำเนินกิจกรรมออนไลน์ เช่น จัดประชาสัมพันธ์พิเศษ “ผลิตภัณฑ์เส้นทางสายไหมทางคลาวด์” และการไลฟ์สด “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” เป็นต้น
มีเหตุผลที่เชื่อมั่นได้ว่า ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพสูงของการร่วมสร้าง “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ความร่วมมือระหว่างประเทศ “อีคอมเมิร์ซเส้นทางสายไหม” ย่อมจะกลายเป็นช่องทางใหม่สำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าทั้งพหุภาคีและทวิภาคี จุดเด่นใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และ“นามบัตรทอง”แห่งการร่วมกันสร้าง"หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง"อย่างมีคุณภาพสูงอีกระดับอย่างแน่นอน