บทวิเคราะห์ : จีนบรรลุการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากผู้มีส่วนร่วมสู่การเป็นผู้นำในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโลก
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การแปรสภาพเป็นทะเลทรายที่ทวีความรุนแรงขึ้น และเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วเกิดขึ้นบ่อยครั้ง นำมาซึ่งความท้าทายอย่างหนักหนาสาหัสต่อการอยู่รอดและการพัฒนาของมนุษยชาติ โลกเป็นบ้านเพียงหลังเดียวที่มนุษย์ต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อความอยู่รอด การปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกประเทศ
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภายใต้การชี้นำทางความคิดของนายสี จิ้นผิง ว่าด้วยอารยธรรมนิเวศวิทยา จีนไม่เพียงแต่เสริมสร้างการสร้างอารยธรรมนิเวศของตนเองเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของมวลมนุษยชาติ และประสบความสำเร็จในการบรรลุการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากผู้มีส่วนร่วมสู่การเป็นผู้นำในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโลก
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้มีความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์ 5 ประการ ได้แก่ การมีส่วนร่วมระดับสูงในการบริหารจัดการสภาพภูมิอากาศโลก การเป็นผู้นำกระบวนการกำกับดูแลความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก การส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำทั่วโลก การร่วมกันสร้าง "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการในต่างประเทศ
ในแง่ของการเป็นผู้นำกระบวนการกำกับดูแลความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกนั้น จีนในฐานะประเทศที่เป็นประธานการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ผลักดันให้บรรลุ "กรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกคุนหมิง-มอนทรีออล" ซึ่งถือเป็นการเปิดหน้าใหม่ในการกำกับดูแลความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประชาคมระหว่างประเทศ
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่ลงนามและอนุมัติอนุสัญญาดังกล่าว การบรรลุเป้าหมายอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของจีนดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก พื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติทั่วประเทศคิดเป็น 18% ของพื้นที่ทางบกของประเทศ พื้นที่สีแดงในการคุ้มครองระบบนิเวศบนบกมีสัดส่วนมากกว่า 30% ของพื้นที่ทางบกทั่วประเทศ จำนวนประชากรสัตว์ป่าและพืชป่าที่หายากและใกล้สูญพันธุ์มากกว่า 300 ชนิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนนำหน้าประเทศอื่นๆในการออกทุน 1,500 ล้านหยวนเพื่อตั้งกองทุนความหลากหลายทางชีวภาพคุณหมิง เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศกำลังพัฒนา
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ทุ่มเทส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง กำลังการผลิตติดตั้งรวมของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทะลุ 1,300 ล้านกิโลวัตต์แล้ว ยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่ครองอันดับหนึ่งของโลกเป็นเวลาแปดปีติดต่อกัน โดยมียอดรวมในปัจจุบัน 16.2 ล้านคัน รถยนต์พลังงานใหม่มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกขับเคลื่อนในจีน
สถิติแสดงให้เห็นว่าจีนเป็นผู้จัดหาอุปกรณ์พลังงานลม 50% และอุปกรณ์โมดูลเซลล์แสงอาทิตย์ 80% ให้กับโลก ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานหมุนเวียนทั่วโลกได้อย่างมาก เมื่อปี ค.ศ.2021ต้นทุนการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลกลดลงประมาณ 82% เมื่อเทียบกับปี ค.ศ.2010 และต้นทุนการติดตั้งไฟฟ้าพลังงานลมลดลง 35% ถึง 40% สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ขับเคลื่อนการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำของจีนเท่านั้น หากยังได้สร้างคุณูปการอย่างมากต่อการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลกอีกด้วย
การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการในต่างประเทศของจีนก็กำลังเป็นที่เข้มงวดกวดขันเช่นกัน จีนได้ออกแนวทางปฏิบัติเพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศสำหรับโครงการก่อสร้างที่มีการลงทุนหรือความร่วมมือในต่างประเทศ ทั้งยังได้เสนอข้อกำหนดด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนสำหรับการดำเนินโครงการ ในกระบวนการรับจ้างดำเนินโครงการในต่างประเทศนั้น บริษัทจีนได้นำแนวคิดการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ก้าวหน้ามาใช้ ตัวอย่างเช่น ในระหว่างการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาว เพื่ออนุรักษ์ที่อยู่อาศัยของช้าง ได้มีการขยายอุโมงค์หลายครั้ง รวมถึงการใช้สะพานแทนถนน
จีนยึดมั่นในแนวคิด "สอนวิธีการจับปลาดีกว่าการให้ปลา" และพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนายกระดับความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างเช่น ในที่ราบทางตอนใต้ของเนปาล พื้นที่ทดลองปุ๋ยเคมีสีเขียวของจีนมีส่วนทำให้ผลผลิตข้าวสาลีและพืชอื่นๆ เพิ่มขึ้นสูงสุด 400% ในกว่า 100 ประเทศและภูมิภาค เช่น สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ฟิจิ และลาว เทคโนโลยีการปลูกหญ้าจวินเฉ่าของจีนได้สร้างโอกาสการจ้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย... จากการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีไปจนถึงการพัฒนาโครงการ จากการฝึกอบรมบุคลากรไปจนถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน จีนได้สร้างผลลัพธ์ความร่วมมือที่มองเห็นได้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้ผลของการพัฒนาและระบบนิเวศที่ดีเป็นประโยชน์ต่อประชาชนของทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกันมากยิ่งขึ้น