เครื่องดนตรีของยูนนานเป็นพยานถึงประวัติศาสตร์แห่งมิตรภาพ
หมู่บ้านเหล่าต๋าเป่า เป็นหมู่บ้านแห่งชนชาติลาหู่ ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอปกครองตนเองชนชาติลาหู่ ล้านช้าง เมืองผูเอ่อร์ มณฑลยูนนาน ณ ที่นี้ ชาวบ้านใช้กีตาร์และหลูเซิงบรรเลงดนตรีอย่างมีความสุข
หลูเซิงเป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของชาวลาหู่ ซึ่งมีประวัติศาสตร์หลายพันปี ส่วนใหญ่ทําจากไม้ไผ่ น้ำเต้า และขี้ผึ้งเป็นหลัก ทั้งนี้ ฝีมือการทำหลูเซิงได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เกือบทุกคนในหมู่บ้านเหล่าต๋าเป่าสามารถเล่นหลูเซิงและเต้นระบำหลูเซิงได้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หมู่บ้านเหล่าต๋าเป่าได้มีการพัฒนาการท่องเที่ยว ดังนั้น การแสดงร้องเพลงและการเต้นรําจึงเป็นส่วนสําคัญในการต้อนรับแขกที่มาจากแดนไกลของชาวบ้าน บนเวที นอกจากหลูเซิงแล้ว ชาวบ้านยังนํากีตาร์มาแสดงอีกด้วย หมู่บ้านเหล่าต๋าเป่ามีชาวบ้านเกือบ 500 คน ในจำนวนนี้มีผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญา 9 คน เพลงพื้นบ้านลาหู่ดั้งเดิมมากกว่า 300 เรื่อง และกีตาร์มากกว่า 200 ตัว แม้ว่าพวกเขาจะไม่เคยได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพ แต่เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ของชาวบ้านเล่นกีตาร์ได้
หลี่ เสอคาย ผู้สืบทอดระบำหลูเซิงของชนชาติลาหู่ มรดกภูมิปัญญาระดับชาติของจีน เขาเรียนรู้การเต้นระบำหลูเซิงจากพ่อและศิลปินพื้นบ้านตั้งแต่อายุ 12 ปี ตอนที่เขาไปเรียนที่ต่างพื้นที่ ครั้งหนึ่งเขาเห็นคนเล่นกีตาร์ เขาจึงซื้อกีตาร์เองและนำไปผสานรวมเข้ากับเพลงพื้นบ้านลาหู่สร้างสรรค์เป็นผลงานดนตรีที่มีความสนุกสนานยิ่งขึ้น
ด้วยการผสมกีตาร์ให้เข้ากับเพลงพื้นบ้านลาหู่ เขาพบว่าจังหวะของกีตาร์เข้ากันได้กับเพลงพื้นบ้านลาหู่มาก ด้วยเหตุนี้ กีตาร์ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของประเทศตะวันตก จึงถูกนํามาใช้กันอย่างแพร่หลายในการแสดงและการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีโดยชาวลาหู่เองก็เต็มใจที่จะยอมรับวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นใหม่นี้
ในปี 2527 หลี่นํากีตาร์ตัวแรกของเขากลับไปที่บ้านเกิด ในปี 2563 ชาวบ้านใช้หลูเซิงและกีตาร์สร้างสรรค์การเต้นรําดั้งเดิมของชนชาติลาหู่ชื่อชุด “ลีลาสําหรับฤดูใบไม้ผลิ” ต่อมาการแสดงชุดนี้ก็ได้มีโอกาสขึ้นเวทีงานกาล่าฉลองตรุษจีนปี2565 อันเป็นเวทีใหญ่ระดับชาติจีนอีกด้วย
นอกจากนี้ หมู่บ้านเหล่าต๋าเป่ายังก่อตั้งคณะสังคีตหย่าเอ่อชนชาติลาหู่ คุณหลี่ น่าโหลวก็เป็นหนึ่งในศิลปินสมาชิก ตั้งแต่ปี 2548 เธอได้นําคณะสังคีตเดินทางออกจากหมู่บ้านไปตระเวนแสดงทั่วประเทศ เพื่อให้ชาวจีนได้ยลเสียงร้องเพลงที่มีความสุขของชาวลาหู่ อนึ่ง หลี่ น่าโหลวและคณะสังคีตหย่าเอ่อเคยแสดงในกรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ เมืองกวางโจว และเมืองเซินเจิ้น เป็นต้น และคณะของหลี่ น่าโหลวยังได้รับเชิญให้แสดงในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ อีกด้วย
แหล่งที่มา:Yunnan.cn
โกว เสี่ยวหรง/แปล
จารุวรรณ อุดมทรัพย์/พิสูจน์อักษร