ปัจจุบัน การที่จีนจะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ในท้องที่ต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงนครเซี่ยงไฮ้ด้วยอย่างไรนั้นยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ประชาคมระหว่างประเทศจับตามองด้วยความสนใจ ภายใต้สภาพที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกพากันเลือกที่จะ "อยู่ร่วมกับไวรัส" บุคคลจำนวนหนึ่งทั้งภายในและต่างประเทศมีมุมมองว่าจีนก็ควรเลือกที่จะ "อยู่ร่วมกับไวรัส" เช่นเดียวกัน แต่ในช่วงเวลาไม่นานที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้เน้นย้ำหลายครั้งว่า ในเรื่องรับมือกับโรคโควิด-19 นั้นจีนจะยังคงยืนหยัดแนวนโยบายหลักซึ่งก็คือ"การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" ต่อไป
เมื่อพิจารณาจากปัจจัยในด้านต่าง ๆ กล่าวสำหรับประเทศจีนแล้ว "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" นั้นยังคงเป็นทางเลือกและแนวทางที่ดีที่สุดในปัจจุบันอย่างแท้จริง
ผู้เชี่ยวชาญจีนได้กล่าวชี้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า จะมองไวรัสโอมิครอนเสมือนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้เป็นอันขาด ในการวัดความร้ายแรงของเชื้อไวรัสนั้นจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งระดับความรุนแรงในการแพร่เชื้อและจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิต ความสามารถในการแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนนั้นสูงกว่าไวรัสไข้หวัดและไวรัสกลายพันธุ์โควิด-19 อื่น ๆ ก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก หากไม่ใช้มาตรการป้องกัน เฉลี่ยแล้วคนหนึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ 9.5 คน มองจากแง่อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย อัตราการเสียชีวิตถัวเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคไข้หวัดทั่วโลกอยู่ที่ 0.1% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตถัวเฉลี่ยของผู้ป่วยติดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนอยู่ที่ 0.75% ซึ่งคิดเป็นประมาณ 7 ถึง 8 เท่าของไข้หวัด สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปีนั้น อัตราการเสียชีวิตเกิน 10% ซึ่งคิดเป็นเกือบ 100 เท่าของไข้หวัดทั่วไป
จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมาก แม้จะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำ แต่เมื่อคูณด้วยฐานประชากรที่มากกว่า 1,400 ล้านคน ยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นก็สูงมาก ซึ่งย่อมไม่สอดคล้องกับแนวคิดการปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ว่า "ประชาชนสำคัญที่สุด ชีวิตสำคัญที่สุด" ดังนั้น แม้ว่าจะมีความยากลำบากและต้นทุนที่สูงมาก แต่ขอเพียงแต่มีความเป็นไปได้เท่านั้น รัฐบาลจีนก็ย่อมยังคงยืนหยัด "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" ต่อไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ความปลอดภัยในชีวิตและสุขภาพร่างกายของประชาชนเผชิญกับภัยคุกคามอันร้ายแรง
นักวิเคราะห์มีมุมมองโดยทั่วไปว่า การมีขีดความสามารถและเงื่อนไขในการบรรลุ "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" นั้นเป็นเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่จีนได้เลือกกลยุทธ์นี้ การที่จีนกล้าที่จะเลือกเดินหนทาง"การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" นั้น มีขึ้นจากการพิจารณาจากสภาพประเทศและความได้เปรียบด้านระบบของจีน เช่น พรรครัฐบาลมีภาวะผู้นําที่ทรงพลัง มีขีดความสามารถในการระดมสรรพกำลังและจัดสรรทรัพยากรทางสังคมที่เข้มแข็งเป็นพิเศษ และระบบสังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีนซึ่งสามารถ "รวมพลังทําสิ่งที่ยิ่งใหญ่" ได้ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันจีนได้ระดมและจัดส่งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์เกือบ 50,000 คนจากท้องที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไปสนับสนุนการต้านโควิด-19 ของนครเซี่ยงไฮ้ ส่วนนครเซี่ยงไฮ้ได้ระดมสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนมากกว่า 700,000 คนให้ปฏิบัติงานอยู่ในแนวหน้าของการต่อสู้กับโรคระบาด อัตราส่วนของสมาชิกพรรคฯ ในอาสาสมัครชุมชนบางแห่งสูงถึง 90% บรรดาสมาชิกพรรคฯ มีบทบาทสำคัญเชิงเสาค้ำในการป้องกันและควบคุมโรคระบาด
การที่จีนยืนหยัด "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" นั้นก็เพื่อแสวงหาการบูรณาการการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมกับการป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในระดับสูงสุด ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์แล้วว่ากลยุทธ์นี้มีประสิทธิผลเป็นที่น่าพอใจ มาตรการป้องกันและควบคุมที่แม่นยำและถูกหลักวิทยาศาสตร์ได้ยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ให้จำกัดอยู่ในขอบเขตที่เล็กที่สุด จึงได้ลดผลกระทบต่อการผลิตและชีวิตทางสังคมให้เหลือน้อยที่สุด จีนสามารถบรรลุอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับ 8.1% เมื่อปีที่แล้วก็คือข้อพิสูจน์ที่ดีที่สุด
อีกตัวอย่างเช่น มณฑลจี๋หลินของจีน นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นเดือนมีนาคมปีนี้ มณฑลจี๋หลินรายงานผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 70,000 คน หลังผ่านการต่อสู้ด้วยความยากลำบากเป็นเวลากว่า 1 เดือน มณฑลนี้ได้ประกาศบรรลุเป้าหมาย “การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือเป็นศูนย์ทางสังคม” เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา และได้ฟื้นฟูระเบียบการผลิตและการดำรงชีวิตในขั้นพื้นฐานแล้ว
นอกจากนี้ แม้ว่าบางท้องถิ่นของจีนมีข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องบ้างในระหว่างการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด และก็มีความไม่พอใจและความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วยก็ตาม แต่นโยบาย "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" นั้นได้รับความเข้าใจ การสนับสนุนและความร่วมมือจากประชาชนจีนส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าผลกระทบทางลบจาก "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" นั้นย่อมน้อยกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากจีนเลือกที่จะ "อยู่ร่วมกับไวรัส" กล่าวได้ว่า การสนับสนุนอย่างกว้างขวางของประชาชนก็คือความมั่นใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีนในการเลือก "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์"
สุดท้าย สิ่งที่น่าเอ่ยถึงคือ แก่นแท้ของนโยบาย "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" นั้นคือ ดำเนินการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่ละครั้งให้ได้ตั้งแต่แรกพบภายใต้สภาพที่ปัจจุบันยังไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคได้และไม่สามารถยับยั้งการติดเชื้อได้อย่างเบ็ดเสร็จ เวลานี้จีนกําลังช่วงชิงเวลาผ่าน "การควบคุมโควิด-19 ให้เหลือศูนย์" เพื่อเตรียมความพร้อมที่เกี่ยวข้องให้ดี ซึ่งรวมถึงการลงลึกทำความเข้าใจเชื้อไวรัส การฉีดวัคซีนอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นและการพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นต้น เพื่อเอาชนะโควิด-19 ในที่สุด