หนึ่งวันในห้วงอวกาศ

2021-12-01 14:55:04 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ยานอวกาศบรรทุกมนุษย์เสินโจว - 13 ประสบความสำเร็จในการปล่อยยานสู่อวกาศ และนักบินอวกาศทั้ง 3 ท่าน ได้แก่ ไจ๋ จื้อกัง หวัง ย่าผิง และเย่ กวงฟู่ ได้ขึ้นสู่อวกาศเป็นที่เรียบร้อย สิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเราหวนระลึกถึงความทรงจำเมื่อ 18 ปีที่แล้ว เมื่อนักบินอวกาศคนแรกของจีน “หยาง ลี่เหว่ย” ได้เยี่ยมชมอวกาศด้วยยานอวกาศบรรทุกมนุษย์เสินโจว - 5 ได้อย่างสำเร็จ และเริ่มเข้าสู่ “ห้วงเวลาที่ไม่รู้จัก” แห่งอวกาศ จากประสบการณ์ “หนึ่งวันในห้วงอวกาศ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในหนังสืออัตชีวประวัติเรื่อง “จักรวาลเก้าชั้น” ในหนังสือ หยาง ลี่เหว่ย ได้เล่าย้อนถึงรายละเอียดขั้นตอนการบินเข้าสู่อวกาศเป็นครั้งแรก ด้วยลีลาการเขียนที่มีชีวิตชีวาและบรรยายรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน ทำให้เราเห็นภาพของเส้นทางการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศของจีนได้เป็นอย่างดี

หนึ่งวันในห้วงอวกาศ

เวลา 9 นาฬิกาตรง เสียงคำรามดังกึกก้องออกมาจากหางจรวด เชื้อเพลิงพลังงานสูงหลายร้อยตันเริ่มเผาไหม้ เครื่องยนต์ทั้ง 8 เครื่อง พ่นไฟร้อนและก๊าซที่มีอุณหภูมิสูงและความเร็วสูงพร้อมกัน ในเวลาชั่วไม่กี่วินาที น้ำนับพันตันใต้แท่นยิงจรวดเหือดระเหยกลายเป็นไอน้ำ

จรวดทะยานออกไปแล้ว

ผมเกร็งไปหมดทั้งตัว กล้ามเนื้อเขม็งตึง ตลอดทั้งตัวหดรัดแน่นเหมือนแท่งเหล็ก

ในตอนเริ่มต้น ยานอวกาศพุ่งขึ้นอย่างช้า ๆ ราบรื่นมาก เสถียรกว่าลิฟต์เสียอีก แต่เมื่อจรวดพุ่งขึ้นไปที่ระดับความสูงสามสิบถึงสี่สิบกิโลเมตร จรวดและยานอวกาศเริ่มสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง และมีเสียงก้องกัมปนาท มันทำให้ผมรู้สึกเจ็บปวดมาก สิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงเรโซแนนซ์ในรูปของเส้นโค้ง ความรู้สึกเจ็บปวดเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และอวัยวะภายในดูเหมือนจะแตกสลาย ผมแทบทนไม่ไหว รู้สึกเหมือนกำลังจะตาย

หลังจากเสียงกัมปนาทต่อเนื่องเป็นเวลา 26 วินาที มันค่อย ๆ ลดลง ผมค่อย ๆ หลุดโล่งออกจากสภาวะที่อึดอัดอย่างที่สุดนั้น ความรู้สึกไม่สบายต่าง ๆ หายไป รู้สึกโปรงโล่งเบาสบายแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เหมือนปลดภาระที่หนักอึ้งลง ราวกับเกิดใหม่อีกครั้ง ผมยังพบว่าระหว่างกระบวนการนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก แต่จุดที่เจ็บปวดอย่างที่สุด คือช่วงสั้น ๆ เมื่อสักครู่ที่ผ่านมา จนผมคิดว่าตัวเองคงต้องจบสิ้นชีวิตแล้วจริง ๆ

หลังจากยานอวกาศโคจรกลับมาแล้ว ผมได้บรรยายถึงกระบวนการที่รู้สึกยากลำบากในตอนนั้นอย่างละเอียด จากการศึกษาวิเคราะห์ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเสียงก้องของยานอวกาศที่สำคัญน่าจะมาจากการสั่นสะเทือนของจรวด จากนั้นพวกเขาได้ปรับปรุงกระบวนการทางเทคนิค ทำการแก้ไขปัญหานี้ ดังนั้น ระหว่างการบินโคจรของ “เสินโจว - 6” สถานการณ์มีการปรับดีขึ้นอย่างมาก และไม่ปรากฏเช่นนั้นอีกในการโคจรอวกาศเที่ยวต่อ ๆ มา

ระหว่างที่ตกอยู่ในสภาวะที่สุดจะทนอยู่ในอวกาศ 26 วินาทีนั้น ไม่เพียงแต่ผมที่รู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเนิ่นนานเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ภาคพื้นดินก็ตกอยู่ในความตึงเครียดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะดูจากหน้าจอขนาดใหญ่ ภาพที่ส่งกลับมาโดยยานอวกาศนั้นเหมือนภาพนิ่ง เนื้อตัวผมไม่ขยับเขยื้อนเลย ดวงตาไม่กะพริบ ทุกคนต่างวิตกกังวลว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับผมหรือไม่

ต่อมา เมื่อแฟริ่งถูกเปิดออก แสงจากภายนอกส่องเข้าห้องเคบิน ผ่านทางช่องหน้าต่าง แสงแดดเจิดจ้าจนผมต้องกระพริบตาถี่ ๆ ชั่วขณะนั้น ใครบางคนในห้องบัญชาการตะโกนว่า “ดูสิ เขากระพริบตาแล้ว ลี่เหว่ยยังมีชีวิตอยู่” ทุกคนปรบมือด้วยความยินดีปรีดา

ในเวลานี้ ผมเริ่มรายงานถึงสถานะของยานอวกาศต่อเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเป็นครั้งแรก “รายงาน เสินโจว - 5 แฟริ่งเปิดได้ตามปกติ”