ดร.รุ่งทิวา ภูคำศักดิ์ นักวิจัยพฤกษศาสตร์ไทย:ฉันวิจัยเชื้อราในคุนหมิง

2021-10-13 15:07:03 |แหล่งที่มา: Lancang-Mekong party

เล่าย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2552 ขณะนั้นดิฉันกำลังศึกษาปริญญาเอกสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพที่มหาวิทยาแม่ฟ้าหลวง ประเทศไทย ตอนนั้นดิฉันได้มีโอกาสเดินทางมายังเมืองคุนหมิงเพื่อเข้าร่วมทำวิจัยกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเชื้อรานานาชาติ สถาบันการป่าไม้แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเวลา 3 เดือน และนี่เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้มีโอกาสมาเมืองคุนหมิง และในปี 2557 - 2558 ดิฉันได้มาคุนหมิงอีกครั้งโดยได้รับเกียรติให้เข้าร่วมทำงานกับทีมวิจัยของศาสตราจารย์สวี เจี้ยนชูแห่งสถาบันวิจัยพฤกษศาสตร์เมืองคุนหมิง สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ครั้งนี้ดิฉันได้ใช้ชีวิตและทำงานในยูนนานเป็นเวลา 8 เดือน หลังจบปริญญาเอกในปี 2560 ดิฉันก็ได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่สถาบันวิจัยพฤกษศาสตร์เมืองคุนหมิงอย่างเป็นทางการ เริ่มต้นศึกษาอนุกรมวิธานของเชื้อราบนเฟิร์นและมะม่วงในเขตมณฑลยูนนานอย่างจริงจัง และด้วยเหตุนี้ดิฉันกับมณฑลยูนนานจึงได้ผูกพันกันมานานถึง 10 ปี

ฉันชอบมณฑลยูนนานเพราะอยู่ใกล้กับประเทศไทย รวมถึงมีอาหารการกินและวัฒนธรรมที่คล้าย ๆ กับไทย ตอนนี้ยูนนานกลายเป็นบ้านหลังที่สองของฉันไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ ทำให้ฉันสามารถศึกษาวิจัยงานด้านอนุกรมวิธานของเชื้อราที่ฉันรักได้อย่างเต็มที่

สำหรับงานวิจัยด้านอนุกรมวิธานของเชื้อรา (Fungal taxonomy) หลายคนมักจะถามดิฉันว่าคืออะไร แล้วมีความสำคัญอย่างไร

ความจริงแล้วเชื้อรามีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนเราอย่างใกล้ชิด เชื้อราจัดเป็นผู้ย่อยสลายในระบบนิเวศและมีบทบาทสำคัญต่อห่วงโซ่อาหาร การศึกษาอนุกรมวิธานของเชื้อราเป็นศาสตร์แห่งการสำรวจค้นหาและการตั้งชื่อเชื้อราชนิดใหม่ที่มีอยู่บนโลก รวมถึงการจัดจำแนกชนิดของเชื้อราด้วย ซึ่งการศึกษาอนุกรมวิธานของเชื้อราสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาวิจัยด้านอื่น ๆ  เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศวิทยา การเกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

หลายคนอาจจะมองว่างานของดิฉันดูจืดชืดและน่าเบื่อ แต่ตัวดิฉันกลับมองว่าเป็นงานที่น่าตื่นเต้นและท้าทาย เพราะทำให้ดิฉันได้สำรวจและค้นพบสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และทำให้เรารู้ว่ายังมีสิ่งที่ไม่รู้จักบนโลกนี้อีกมากมาย สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากที่จะค้นหาราชนิดใหม่ต่อไป

เมื่อเทียบกับประเทศไทยหรือประเทศและภูมิภาคอื่น ๆ แล้ว ยูนนานจัดเป็นแหล่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอันอุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของต้นกำเนิดและความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ จากข้อมูลวิชาการของ Bang Feng และ Zhuliang Yang (2018) ระบุว่าพืชพันธุ์ที่ค้นพบในยูนนานนั้นมีประมาณ 17,427 ชนิด และพืชหนึ่งชนิดสามารถพบเชื้อราในอัตราส่วน 1 ต่อ 6 ดังนั้น จึงสามารถอนุมานได้ว่ายูนนานน่าจะมีเชื้อราประมาณ 104,000 ชนิด แต่ปัจจุบันมีการค้นพบเชื้อราเพียงประมาณ 6,000 ชนิด คิดเป็น 5% ของเชื้อราที่ถูกค้นพบเท่านั้น เท่ากับว่ายังมีเชื้อรามากว่า 95% ที่ไม่มีการค้นพบ ดังนั้น ยูนนานจึงเป็นสถานที่ที่มีความน่าสนใจในด้านการศึกษาอนุกรมวิธานของเชื้อรา

ยกตัวอย่างผลงานวิจัยที่สร้างความภาคภูมิใจให้ดิฉันมากที่สุด ก็คือ ผลงานเรื่อง “บันทึกความหลากหลายของเชื้อรา ลำดับที่ 929 - 1035 : การศึกษาอนุกรมวิธานและวงศ์วานวิวัฒนาการในสกุลและชนิดของเชื้อรา" (Fungal diversity notes 929–1035: taxonomic and phylogenetic contributions on genera and species of fungi) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกที่ดิฉันได้ทำงานร่วมกับนักวิจัยมากกว่า 100 คนทั่วโลก โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นการรวบรวมเชื้อราชนิดใหม่ที่ค้นพบจากทั่วโลก และรวบรวบข้อมูลใหม่ ๆ ของเชื้อราที่เคยถูกค้นพบ จากการศึกษาเชื้อราทั้งหมด 107 ชนิด มีเชื้อราจำนวน 33 ชนิดถูกค้นพบในยูนนาน และจาก 33 ชนิดนี้ มีการค้นพบเชื้อราชนิดใหม่ถึง 26 ชนิด และอีก 6 สกุลใหม่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพของเชื้อราที่มีอยู่ในมณฑลยูนนาน 

คุณรู้หรือไม่ว่า ความจริงแล้ว การศึกษาอนุกรมวิธานของเชื้อรามีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะเป็นการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของความหลากหลายของเชื้อราซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพ

และสิ่งที่ดิฉันกำลังตั้งตารอก็คือ ประสิทธิผลจากการประชุม COP15 ที่กำลังจัดขึ้นในนครคุนหมิงอันจะเป็นแรงผลักดันการศึกษาและวิจัยเชื้อราให้ก้าวหน้าต่อไป การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นมีส่วนสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ ดิฉันเชื่อว่า การจัดประชุม COP15 ครั้งนี้ จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และหวังว่า COP15 จะมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์โลกและบ้านที่น่าอยู่อาศัยให้กับคนทั้งโลก

文字 翻译 编辑:胡丽仙 

视频 图片:李文君 部分图片由受访者提供

译审:陈慕筠

审核:张若谷