เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายหยาง ซิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษล้านช้าง-แม่โขง ค.ศ. 2020 โดยจีนจะสนับสนุนไทยดำเนินโครงการป้องกันโรคเอดส์ในอนุภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขง
กรอบความร่วมมือ “ล้านช้าง-แม่โขง” เป็นกลไกความร่วมมือระดับอนุภูมิภาครูปแบบใหม่ที่ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยจีน กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม ร่วมกันก่อตั้งขึ้น
ระหว่างการประชุมผู้นำความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงครั้งแรกในค.ศ. 2016 จีนเสนอให้จัดตั้งกองทุนความร่วมมือพิเศษภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง โดยจีนได้เสนอเงินทุนมูลค่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อสนับสนุนโครงการความร่วมมือขนาดกลางและขนาดเล็กในความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง
ตั้งแต่กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงเริ่มขึ้นตั้งแต่ค.ศ. 2016 ประเทศสมาชิกได้ดำเนินโครงการความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการลดความยากจนกว่า 400 โครงการ ปีนี้เมื่อเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ประเทศล้านช้าง-แม่โขงร่วมแรงร่วมใจกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยน และความร่วมมือด้านสาธารณสุข จึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอนุภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ประเทศล้านช้าง-แม่โขงซึ่งรวมถึงจีนและไทยกำลังร่วมกันศึกษาการพัฒนาระบบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและการรับมือเหตุฉุกเฉินเหล่านี้ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเตือนภัยโรคระบาดในระยะต้นและดำเนินโครงการความร่วมมือด้านสาธารณสุข จากนี้ไปความร่วมมือด้านสาธารณสุขล้านช้าง-แม่โขงจะได้รับการยกระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสร้างประโยชน์แก่ประชาชนในอนุภูมิภาคมากยิ่งขึ้น
จีนให้ความสำคัญต่อความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงมาโดยตลอด วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน เข้าร่วมการประชุมผู้นำความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ครั้งที่ 3 ผ่านระบบการประชุมทางไกลจากกรุงปักกิ่งพร้อมกล่าวว่า จีนจะตั้งกองทุนความร่วมมือพิเศษด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เพื่อให้การสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์และเทคโนโลยีการแพทย์แก่ประเทศสมาชิก หลังจีนเสร็จสิ้นการวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 จีนจะส่งมอบวัคซีนแก่ประเทศสมาชิกล้านช้าง-แม่โขงก่อนในอันดับต้น ๆ เรายังต้องพัฒนาระบบแจ้งข้อมูลข่าวสารและร่วมกันรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่รุนแรง กระชับความร่วมมือในการเตือนภัยโรคระบาดและดำเนินโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น โครงการป้องกันและรักษาโรคเขตร้อนในอนุภูมิภาคฯ ให้ประสบความสำเร็จ ความสามัคคีและความร่วมมือของประชาคมโลกมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จีนยินดีร่วมกับประเทศสมาชิกล้านช้าง-แม่โขงสนับสนุนให้องค์การอนามัยโลกแสดงบทบาทมากขึ้นในด้านนี้
วันที่ 3 ธันวาคม นายโหล เจ้าฮุย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวขณะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดว่าด้วยความร่วมมือด้านสื่อมวลชนล้านช้าง-แม่โขง ค.ศ. 2020 ว่า จีนยินดีลงลึกความร่วมมือกับประเทศสมาชิกล้านช้าง-แม่โขง ในด้านการต้านโควิด-19 ใช้กองทุนความร่วมมือพิเศษด้านสาธารณสุขให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งปันประสบการณ์ของแต่ละประเทศในการป้องกันและรักษาโรคระบาด ร่วมกันวิจัยและผลิตวัคซีน กระชับความร่วมมือในการเตือนภัยโรคระบาดและการใช้ประโยชน์จากยาสมุนไพรแบบดั้งเดิม รวมทั้งร่วมกันรับมือความท้าทายต่อความมั่นคงรูปแบบใหม่
หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ประเทศสมาชิกล้านช้าง-แม่โขงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมกันต้านโควิด-19 จนสามารถควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิผล แม้โครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขของประเทศสมาชิกล้านช้าง-แม่โขงยังไม่เข้มแข็งพอเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ในยุโรป และสหรัฐฯ แต่ประเทศเหล่านี้ยังสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ จึงถือเป็นความสำเร็จที่ได้มาไม่ใช่ง่าย
ขณะนี้ โควิด-19 ยังคงระบาดใหญ่ทั่วโลก ประเทศสมาชิกล้านช้าง-แม่โขงเข้าสู่ภาวะปกติใหม่แห่งการป้องกันและควบคุมโควิด-19 นอกจากนี้ ประเทศเหล่านี้ยังต้องเผชิญภัยคุกคามจากโรคระบาดชนิดอื่น ๆ เช่น โรคเอดส์ ไข้เลือดออก และไข้มาลาเรีย ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เรายิ่งต้องใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง เสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในอนุภูมิภาค ตลอดจนร่วมกันขับเคลื่อนการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของประเทศล้านช้าง-แม่โขง