วันที่ 15 มิถุนายน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือนพฤษภาคม โดยข้อมูลหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับดี สภาพการอุปโภคบริโภคปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้การค้าในตลาดจีนดีขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3
นายไมเคิล สเปนซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากดอยช์แบงค์ (Deutsche Bank) กล่าวว่า การฟื้นฟูของเศรษฐกิจจีน “ดูเหมือนจะสร้างความประทับใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก” อุปสงค์ภายในประเทศจีนที่เพิ่มขึ้นมีความหวังที่จะพยุงให้เศรษฐกิจเติบโต 5%-6% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง
บรรดานักวิเคราะห์จากแบล็กร็อค บริษัทในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจจัดการด้านการลงทุนก็เห็นว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ มีโอกาสที่จะกลับคืนสู่เส้นทางการเติบโตก่อนเกิดโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2020
ถ้ามองจากภาพรวม แม้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภายในและภายนอก แต่เศรษฐกิจจีนยังมีความแข็งแกร่ง และยิ่งใหญ่ มีความสามารถที่จะขจัดความยากลำบากในเบื้องต้น และมีศักยภาพที่จะพัฒนาก้าวหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจจีนก็กำลังเผชิญกับความท้าทายและความยากลำบากที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ระบบ และกลไกต่าง ๆ ที่เข้ามาพร้อมกัน หากรวมกับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ห่วงโซ่อุตสาหกรรมและอุปทานของทั่วโลก ก็ถือว่ากำลังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างสูง และมีกระแสการกีดกันการค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้การหมุนเวียนของเศรษฐกิจจีนยังคงมีแรงกดดันค่อนข้างมาก ยังคงต้องใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยเหลือโลกให้ผ่านพ้นวิกฤตทางเศรษฐกิจในช่วงนี้
จีนตระหนักว่ายิ่งประสบความยากลำบาก ยิ่งต้องขยายการเปิดสู่ภายนอก จีนที่ยึดมั่นกลไกพหุภาคีและการเชื่อมต่อที่ไม่มีพรมแดน ไม่เพียงแต่สามารถผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประจำปีเท่านั้น หากยังจะร่วมมือกับประชาคมโลกขจัดความยากลำบากในปัจจุบัน เพิ่มพลังขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกอีกด้วย