คณะนักวิทยาศาสตร์จีนได้เพาะปลูกข้าวทนดินเค็มด่างลงแปลงนาที่ตั้งอยู่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 2,800 เมตร ในมณฑลชิงไห่ทางจีนตะวันตกเฉียงเหนือ เปิดฉากการทดลอง “เพาะปลูกข้าวทนดินเค็ม” บนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตครั้งแรก
แปลงนาดังกล่าวตั้งอยู่บนแอ่งกระทะฉายต๋ามู่ (Qaidam Basin) ของที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ซึ่งมีพื้นที่ดินเค็มด่างขนาดใหญ่ที่พืชผลเติบโตได้ยาก รวมถึงมักเผชิญภัยแล้ง พายุลูกเห็บ น้ำค้างแข็ง และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ เป็นประจำ
รายงานระบุว่าทีมงานนำโดยหยวนหลงผิง เจ้าของสมญานาม “บิดาข้าวลูกผสม” ได้ทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวจากที่ดินเค็มด่าง
เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะนักวิจัยจากศูนย์วิจัยและพัฒนาข้าวทนดินเค็มด่างชิงเต่า ได้เคลื่อนย้ายข้าวทนดินเค็มและอากาศหนาวเย็น ซึ่งบ่มเพาะอยู่ในเรือนกระจกออกไปทดลองเพาะปลูกในที่ดินเค็มด่างบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต
จางกั๋วตง วิศวกรประจำศูนย์ฯ เผยว่าคณะนักวิจัยวางแผนทดลองเพาะปลูกข้าวทนดินเค็มด่างในพื้นที่ 6.67 เฮกตาร์ (ราว 42 ไร่) และใช้ทั้งแรงงานคนและเครื่องจักรในการสังเกตการณ์ รวมถึงสร้างตัวอย่างเพื่อการเพาะปลูกขนานใหญ่ในอนาคต
รายงานเสริมว่านับตั้งแต่ปี 2019 ศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมข้าวทนดินเค็มในพื้นที่ดินเค็มด่าง 7 แห่งของจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
คณะนักวิจัยระบุว่าจะมีการก่อตั้งศูนย์การทดลองและฐานการเพาะปลูกใหม่ในชิงไห่ เพื่อริเริ่มหนทางใหม่ของการผลิตทางการเกษตรบนที่ราบสูง