บริหารแดนมังกร นวัตกรรมพลิกฟื้นคืนชีวิตให้กับงานศิลป์พระราชวังต้องห้าม

2020-06-28 16:36:04 |แหล่งที่มา: นิตรสารแม่น้ำโขง

หิมะภายในพระราชวังต้องห้าม “แมวหลวง” นวัตกรรมทางวัฒนธรรมของพระราชวัง นิทรรศการของพระราชวัง… ณ ปัจจุบัน พระราชวังต้องห้าม (กู้กง) แห่งกรุงปักกิ่งมิใช่เป็นเพียงพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งอีกต่อไป แต่ยิ่งไปกว่านั้น สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแบบอย่างของการใช้ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อให้เข้าถึงชีวิตของประชาชน ในฐานะเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีประวัติศาสตร์ 600 ปี พระราชวังต้องห้ามมีกลุ่มสิ่งก่อสร้างพระราชวังและโบราณวัตถุจำนวนมาก ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์อันทรงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัฒนธรรมโบราณจีน หลายปีมานี้ ภายใต้การขับเคลื่อนของอุตสาหกรรมนวัตกรรมทางวัฒนธรรม พระราชวังต้องห้ามได้กลายร่างเป็น “ผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์”

ผู้คนยินดีจะซื้อและชอบซื้อ

ทุก ๆ ปี พระราชวังต้องห้ามต้อนรับผู้มาเยือน 17 ล้านคน ในแต่ละวันพบเจอผู้คนหลายหมื่นคน พระราชวังซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ครบวงจรชื่อดังของโลกและมรดกทางวัฒนธรรมของโลกแห่งนี้ ทำอย่างไรให้โบราณวัตถุที่เก็บสะสมไว้และมรดกที่ตั้งโชว์ไว้รวมถึงตัวอักษรที่บันทึกอยู่ในหนังสือโบราณกลับคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง

จุดเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมปี ค.ศ. 2013 เมื่อพระราชวังต้องห้ามได้เก็บรวบรวมนวัตกรรมทางวัฒนธรรมจากประชาชนเป็นครั้งแรก โดยได้จัดการแข่งขันออกแบบนวัตกรรมทางวัฒนธรรมในหัวข้อว่า “นำวัฒนธรรมพระราชวังต้องห้ามกลับบ้าน” หลังจากนั้น ผลิตภัณฑ์จำนวนมาก ก็ได้ออกสู่สายตาผู้คน อาทิ ป้ายติดกระเป๋าเดินทาง “รับบัญชาออกท่องเที่ยว” พัดแบบพกพาที่มีลายพระหัตถ์ว่า “ข้าก็เป็นผู้ชายอกสามศอกเช่นนี้แล” ซึ่งทำให้พระราชวังต้องห้ามอ่อนเยาว์ขึ้น

นอกจากผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่จับต้องได้แล้ว พระราชวังต้องห้ามยังได้เปิด “ประตูวัง” บนอินเตอร์เน็ตอีกด้วย ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ก้าวออกจาก “พระราชวังต้องห้าม” ไปสู่ “โลกกว้าง” 

ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์พระราชวังมีร้านจำหน่ายสินค้านวัตกรรมทางวัฒนธรรมจำนวน 4 ร้าน ได้แก่ “อาคารนวัตกรรมทางวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์พระราชวัง” ซึ่งเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการในปลายปี ค.ศ. 2018 “ร้านเรือธงนวัตกรรมทางวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์พระราชวัง” ซึ่งจำหน่ายของใช้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ “ร้านพระราชวังกู้กงใน Taobao” ซึ่งเน้นตีตลาดวัยรุ่น และ “ห้างพระราชวังต้องห้าม” ที่ค่อนข้างออกแนวตลาดเข้ากับคนหมู่มาก ร้านทั้ง 4 ร้านมุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนแต่ละกลุ่มในสังคม ลักษณะของสินค้าก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป นับเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีความหลากหลายแตกต่าง ร่วมกันสร้างภาพลักษณ์โดยรวมของนวัตกรรมวัฒนธรรม “พระราชวังต้องห้าม”

วัยรุ่นตกหลุมรักวัฒนธรรมวังต้องห้าม

ทำอย่างไรให้วัฒนธรรมโบราณที่งดงามซึ่งหลับใหลอยู่ในพิพิธภัณฑ์เป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของวัยรุ่น นี่เป็นประเด็นที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องครุ่นคิด

พร้อม ๆ กับที่ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของพระราชวังต้องห้ามมียอดจำหน่ายจำนวนมาก วัฒนธรรม “พระราชวังต้องห้าม” ก็ยิ่งได้รับความนิยมจากวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ มีวัยรุ่นมาเยี่ยมชมพระราชวังจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติที่พระราชวังกู้กงประกาศ ในปี ค.ศ. 2018 มีคนมาเยี่ยมชมทะลุยอด 17 ล้านคน เป็นผู้เข้าชมที่อายุต่ำกว่า 30 ปี จำนวนร้อยละ 40 คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มยุค 80 (เกิดระหว่าง ค.ศ. 1980 - 1989) และยุค 90 (เกิดระหว่าง ค.ศ.1990 - 1999) ได้กลายเป็น “กำลังหลัก” ที่เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง

ในการลดช่องว่างระหว่างพระราชวังต้องห้ามกับวัยรุ่นให้เข้ามาใกล้กันยิ่งขึ้น จึงต้องศึกษาวิธีการโฆษณาที่วัยรุ่นยอมรับ จะทำอย่างไรให้ประวัติศาสตร์ “เข้าถึงคนได้ง่าย” “ดูมีชีวิตน่าสนใจ” สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญในประวัติวิวัฒนาการของ “ผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์” ของพระราชวังต้องห้าม

ในปี ค.ศ. 2014 “กู้กงเถาเป่า” (ค้นทรัพย์ในวัง) ออฟฟิคเชียลแอคเคาท์ใน Wechat ได้ลงบทความ “จักรพรรดิหย่งเจิ้ง : รู้สึกตัวเองน่ารักจัง” ซึ่งบทความนี้ได้กลายเป็บทความยอดนิยมชิ้นแรกของ “กู้กงเถาเป่า” ทันที มีผู้เข้าชม “1 แสน+” ด้วยเหตุนี้ จักรพรรดิหย่งเจิ้งก็กลายเป็น “ผู้ทรงอิทธิพลออนไลน์” ซึ่งเป็นที่พูดถึงอย่างแพร่หลายในขณะนั้น ในปีเดียวกัน นวัตกรรมทางวัฒนธรรมในพิพิธภัณฑ์พระราชวังก็ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ “หูฟังสร้อยประคำ” ป้ายห้อยกระเป๋าเดินทาง “รับบัญชาออกท่องเที่ยว” พัดแบบพับได้ที่มีลายพระหัตถ์ “ข้าก็เป็นผู้ชายอกสามศอกแบบนี้แล” ซึ่ง “หูฟังสร้อยประคำ” ได้รับรางวัลอันดับหนึ่งใน “10 ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางวัฒนธรรมยอดนิยมประจำปี 2014”

ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ผนวกเข้ากับ “สมอง” ของวัยรุ่น ทำให้สามารถขุด “คลังทรัพย์” ในพระราชวังต้องห้ามได้อย่างต่อเนื่อง การโฆษณาก็ได้ผลเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าเส้นทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมสินค้าทางวัฒนธรรมของพระราชวังต้องห้ามกรุงปักกิ่งยังไม่นานนัก แต่กลับค้นพบเส้นทางของตัวเองได้อย่างรวดเร็ว พระราชวังต้องห้ามได้กลายเป็นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่หลอมรวมประวัติศาสตร์กับความทันสมัย วัฒนธรรมกับเทคโนโลยี ความโบราณกับนวัตกรรมเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เผยแพร่วัฒนธรรมโบราณผ่านรูปแบบที่หลากหลาย

หลายปีมานี้ พระราชวังต้องห้ามยึดหลักการ “ตั้งรากฐานบนวัฒนธรรมโบราณ ยึดติดกับวิถีชีวิตของมวลชน” สร้างผลิตภัณฑ์ที่ประชาชนทั่วไปจำนวนมากอยากใช้และผนวกวัฒนธรรมโบราณเข้ากับชีวิตสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ตุ๊กตาพระราชวังต้องห้าม ซึ่งน่าสนใจและได้รับความนิยมจากบรรดาวัยรุ่น ปลอกใส่โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าใส่คอมพิวเตอร์ แผ่นรองเมาส์ USB เนื่องจากใช้งานได้จริงจึงขายดีอย่างต่อเนื่อง

เพื่อสร้างภาพลักษณ์แบรนด์สินค้าให้ดียิ่งขึ้น พิพิธภัณฑ์พระราชวังพยายามรักษามาตรฐานให้ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมทุกชิ้นมีอัตลักษณ์สร้างสรรค์แบบวังต้องห้ามแล้ว พิพิธภัณฑ์ก็ยังเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การออกแบบ การผลิต การจำหน่าย เพื่อพยายามทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นได้คุณภาพที่ดี

โดยทั่วไปการขึ้นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางวัฒนธรรมของพระราชวังต้องห้ามต้องทำ 4 - 5 ครั้งขึ้นไป เพื่อเก็บทุกรายละเอียด ปรับฝีมือหัตถกรรม และปรับปรุงกระบวนการผลิต จากตัวผลิตภัณฑ์เองไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ล้วนต้องพิถีพิถันเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์โดยรวมอย่างต่อเนื่องลิปสติกพระราชวังต้องห้ามซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงปลายปี ค.ศ. 2018 ในกระบวนการวิจัยผลิต แค่การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกของลิปสติกก็แก้ไขถึง 1,240 ครั้ง

“พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องเปลี่ยนรูปแบบการโฆษณาแบบเดิมต้องเรียนรู้ที่จะใช้วิธีการที่หลากหลายในการเผยแพร่วัฒนธรรมโบราณอันงดงาม พวกเราต้องทำให้ทรัพยากร มรดกวัฒนธรรมกู้กงกลับมามีชีวิต” นายซั่น จี้เสียง ผู้อำนวยการสถาบันโบราณวัตถุแห่งประเทศจีนกล่าว

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006