เมื่อแสงไฟบนเวทีค่อย ๆ สว่างขึ้น “ฐิดากาญจน์ วรวิวัฒน์” ปรากฏตัวขึ้นพร้อมด้วยมือถือร่มกระดาษสาสีเขียวและรอยยิ้มอันสดใส เธอสวมชุดชาวไตสีเขียวงามสง่า ตัวกระโปรงปักด้วยเลื่อมเป็นลวดลายนกยูง ด้วยลีลาท่าเต้นรำที่อ่อนช้อยพริ้วไหวไปตามจังหวะของเสียงดนตรี...
คุณฐิดากาญจน์ วรวิวัฒน์ เป็นอาจารย์สอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งคุนหมิง การเต้นระบำนกยูง (ระบำชนชาติไต) เป็นสิ่งที่เธอโปรดปรานมากที่สุด
ในปี พ.ศ. 2551 คุณฐิดากาญจน์ ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลจีน (CSC) ได้เดินทางมาเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งคุนหมิง ด้วยความชื่นชอบการเต้นรำทำให้เธอเข้าร่วมเป็นสมาชิกของชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทยมาตั้งแต่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อเธอมาถึงมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งคุนหมิงใหม่ ๆ จึงได้เข้าร่วมชมรมศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยทันที
มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณฐิดากาญจน์ได้ชมการแสดงเต้นระบำนกยูงของคุณหยาง หลี่ผิงเข้าโดยบังเอิญ “ความอ่อนช้อยและพริ้วไหวของการเต้นระบำนกยูงช่างมีเสน่ห์และพลังทำให้ฉันรู้สึกประทับใจ” คุณฐิดากาญจน์กล่าว “ในตอนนั้นฉันก็ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องทำตัวเองให้งดงามเหมือน ‘นกยูง’ ให้ได้”
หลังจากนั้น เธอก็เริ่มศึกษาท่าเต้นระบำนกยูงจากคลิปวิดีโอต่าง ๆ และหากรู้ว่าที่ไหนมีการแสดงฉันก็จะติดตามไปดูเพื่อศึกษาท่าเต้นและเทคนิคการเต้นต่าง ๆ และนำมาดัดแปลงเป็นท่าเต้นในรูปแบบของตัวเอง “การรำแบบไทยมีความคล้ายคลึงกับระบำชาวไตของยูนนานหลายอย่าง ซึ่งมีส่วนช่วยให้ฉันฝึกฝนเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น”
ภายในระยะเวลาอันสั้น “สาวต่างชาติผู้ชื่นชอบการเต้นระบำชาวไต” ก็ปรากฏตัวแสดงบนเวที ทำให้ผู้ชมรู้จักและจดจำเธอในฐานะนักเต้นระบำชาวไต
“มีอยู่ปีหนึ่ง ทางมหาวิทยาลัยได้เชิญให้ฉันช่วยจัดการแสดงของตัวแทนนักศึกษาต่างชาติ ฉันก็ไม่ลังเลเลยที่จะเลือกการแสดงระบำชาวไต ท่าเต้นต่าง ๆ และลำดับการแสดงนั้นฉันเป็นคนคิดและออกแบบเองทั้งสิ้น หลังจากผ่านการฝึกซ้อมเป็นเวลาหนึ่งเดือน การแสดงชุด ‘สาวน้อยชาวไต’ก็แสดงออกมาได้อย่างงดงามเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ชม จนกระทั่งถึงตอนนี้ทุกคนก็ยังจดจำท่าทางการแสดงบนเวทีครั้งนั้นของฉันได้อย่างติดตา อาจารย์และเพื่อน ๆ นักเรียนของฉันต่างตั้งฉายาให้ฉันว่า ‘เจ้าแม่ระบำนกยูง’ ทำให้ฉันรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก”
“ฉันเคยได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ในงานแสดงปีใหม่ประจำปี 2012 ของนักศึกษาจีนและนานาชาติ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งคุนหมิง และรางวัลรองชนะเลิศจากงานแสดงนาฏศิลป์ประจำฤดูใบไม้ร่วงของมหาวิทยาลัย ฯ” เรื่องราวต่าง ๆ ได้ถูกบันทึกไว้เป็นความสำเร็จของตัวเธอ ปัจจุบัน “เจ้าแม่ระบำนกยูง” ยังคงมีแววตามุ่งมั่นส่องเป็นประกาย
หลังจากสำเร็จการศึกษาคุณฐิดากาญจน์เลือกที่จะเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่ตนเองเรียนจบ และตั้งรกรากอยู่ที่เมืองคุนหมิง
นอกจากการสอนหนังสือแล้ว เธอยังได้ฝึกฝนให้นักเรียนชาวจีนและชาวต่างชาติเรียนรู้ศิลปะการรำเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันศิลปะการเต้นรำรายการต่าง ๆ “ความมีเสน่ห์ของการเต้นรำ สามารถปรากฏบนเวทีได้อยู่เสมอ” และระบำนกยูง (ระบำชนชาติไต) ยังคงเป็นการแสดงที่เธอชื่นชอบมากที่สุด “ตอนนี้ฉันสอนลูกสาววัย 3 ขวบให้หัดเต้น และหวังว่าสักวันหนึ่งลูกสาวของฉันจะกลายเป็นนกยูงตัวน้อยที่มีลีลาอ่อนช้อยและพริ้วไหวได้เช่นกัน”