นายต้วน ลี่เซิง:ชาวจีนที่ศึดษาวิจัยประวัติศาสตร์ไทย

2020-06-04 15:59:29 |แหล่งที่มา: Lancang-Mekong party

ในช่วงศตวรรษที่ 13 พ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์แห่งราชวงศ์สุโขทัยของไทยได้ประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นมา จากนั้น ประเทศไทยจึงก้าวเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นระยะเวลายาวนาน ราชวงศ์สุโขทัยเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทยและได้รับการบรรจุไว้ในตำราประวัติศาสตร์ชั้นประถมและมัธยมศึกษา

แต่ความจริงแล้ว ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 - 2 ก่อนคริสต์ศักราชในหนังสือโบราณของจีนก็ได้มีบันทึกเกี่ยวกับนครรัฐเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ ที่ตั้งอยู่บนดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ในปี ค.ศ. 1984 ในฐานะนักวิชาการจีนรุ่นแรก ๆ ที่ก้าวข้ามดินแดนจีนมาสอนหนังสือในประเทศไทย นายต้วน ลี่เซิงได้นำเสนอว่า ช่วงเวลาก่อนประวัติศาสตร์ของไทยสามารถขยายความได้เพิ่มขึ้นอีก เขานำบันทึกในเอกสารประวัติศาสตร์จีนมาเขียน ซึ่งได้รับการบอกต่อและตีพิมพ์ต่อโดยหนังสือพิมพ์จีนและนิตยสารภาษาไทยในท้องถิ่น และได้รับความสนใจจากวงการการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยอย่างมาก

ลูกศิษย์ของนายจี้ เสี้ยนหลิน

ขณะที่นั่งอยู่ในบ้านที่คุนหมิงของนายต้วน ลี่เซิง นักวิชาการที่ผ่านวัยเจ็ดสิบไปแล้ว ท่านนี้ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์และเรื่องราวของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยแววตาที่ยังคงเป็นประกาย เขาแนะนำตัวว่า “ผมเป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสายโรแมนติก”

ในปี ค.ศ. 1962 ต้วน ลี่เซิง ซึ่งเกิดที่มณฑลยูนนานประเทศจีนได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยปักกิ่งสำเร็จ และเข้าไปศึกษาในวิชาเอกภาษาไทยในคณะภาษาตะวันออก ในช่วงแรกของการเรียน เขาผู้ซึ่งตั้งปณิธานจะเป็นนักเขียน กลับไม่สนใจสาขาวิชาเอกนี้ แต่ได้นายจี้ เสี้ยนหลิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมชื่อดังของจีนซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีในตอนนั้นคอยเตือนสติว่า “ตั้งใจเรียนภาษาไทยให้ดี  ชีวิตในอนาคตจะมีขุมพลังวิเศษ” เมื่ออายุได้ 36 ปี  นายต้วน ลี่เซิง สอบติดปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มหาวิทยาลัยจงซาน เขาได้ใช้ “ขุมพลังวิเศษ” ที่สั่งสมมาในช่วงปริญญาตรี เพื่อศึกษาและวิจัยประวัติศาสตร์ไทย

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาโท นายต้วน ลี่เซิง ได้อยู่เป็นครูสอนต่อที่มหาวิทยาลัย  และในปี ค.ศ. 1984 ได้รับเชิญมาสอนที่ประเทศไทย เขาทำงานที่ประเทศไทยเป็นเวลา 10 กว่าปี และยังไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอีก 7 - 8 ปี ในช่วงเวลาดังกล่าว เขาก็ทำการวิจัยและสอนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยมาโดยตลอด

ด้วยความรู้ภาษาจีน ภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างแตกฉาน บวกกับประสบการณ์ที่ได้เห็นได้คิดระหว่างทำงานที่ประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปี ทำให้ในระหว่างกระบวนการวิจัยประวัติศาสตร์ไทย นายต้วน ลี่เซิง มีข้อได้เปรียบในการทำความเข้าใจเอกสารประวัติศาสตร์โบราณ ข้อได้เปรียบในการแลกเปลี่ยนสื่อสารทางภาษาอย่างคล่องแคล่ว และข้อได้เปรียบในการมีประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสกับผู้คนวัฒนธรรมและภูมิประเทศของไทย

ช่วงก่อนสมัยประวัติศาสตร์ของไทย

โดยทั่วไป ช่วงก่อนสมัยประวัติศาสตร์หมายถึงช่วงระยะเวลายาวนานก่อนที่จะมีการบันทึกประวัติศาสตร์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร นี่หมายความว่าก่อนศตวรรษที่ 13 ซึ่งวงการประวัติศาสตร์ไทยยอมรับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ไทย ล้วนแต่เรียกได้ว่าเป็นช่วงก่อนสมัยประวัติศาสตร์ไทย นายต้วน ลี่เซิง กล่าวว่า  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1- 2 ก่อนคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ประเทศจีนได้มีการติดต่อโดยตรงกับอาณาจักรโบราณใหญ่น้อยบนแผ่นดินไทยเหล่านี้ ได้เริ่มมีการใช้ภาษาจีนบันทึกสภาพพื้นที่บริเวณนี้ หลังจากนั้น ในช่วงประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ก็ทะยอยมีการบันทึกอย่างต่อเนื่อง บันทึกเหล่านี้ บ้างก็อยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์หลักที่ราชสำนักจัดทำขึ้น  บ้างก็เป็นการบรรยายเล่าส่วนตัว บ้างก็อยู่ในแฟ้มเอกสารของพระราชสำนัก โดยส่วนมากจะเป็นการบันทึกเรื่องเล่าในสมัยนั้นโดยคนในสมัยนั้น

เนื่องจากสมัยก่อนนักวิชาการประวัติศาสตร์ของไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกับการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีน ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่กระจัดกระจายและเล็กน้อยที่พวกเขาได้รับรู้ ก็มาจากหนังสือภาษาอังกฤษของชาวตะวันตก อาทิ “A History of Southeast Asian” ซึ่งแต่งโดยนาย Arthur Cotterell ก็ได้พูดถึงประเทศโบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก โดยรวมถึงนครรัฐบางแห่งที่ปรากฏขึ้นมาในแผนที่ประเทศไทยในปัจจุบันในเวลาแตกต่างกัน แต่ที่มาของข้อมูลของนาย Arthur ส่วนใหญ่ก็อาศัยจากบันทึกตำราโบราณของจีน  ซึ่งมาจากการแปลและนำเสนอโดยนักจีนศึกษาชาวตะวันตก แม้ว่านักศึกษาชาวตะวันตกเหล่านี้จะมีพื้นฐานด้านจีนศึกษาที่แน่น แต่ก็ไม่เหมือนกับนักวิชาการจีนที่สามารถอ่านเอกสารประวัติศาสตร์ภาษาจีนได้อย่างเชี่ยวชาญทะลุปรุโปร่ง  บวกกับอาจมีความเข้าใจภาษาจีนโบราณคลาดเคลื่อน ดังนั้น การแปลและนำเสนอของพวกเขาก็อาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ หรือกระทั่งอาจมีบางจุดที่ผิดพลาด

ในช่วงที่สอนในมหาวิทยาลัยในประเทศไทย นายต้วน ลี่เซิง ได้ตีพิมพ์บทความในสื่อไทยอย่างต่อเนื่อง โดยได้นำเสนอข้อมูลที่บันทึกในหนังสือโบราณของจีนที่เกี่ยวกับนครรัฐในยุคแรกเริ่มในแผ่นดินไทย ซึ่งทัศนะที่นำเสนอเป็นที่สนใจของวงการประวัติศาสตร์ไทย

ทูตแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับไทย

ท่องไปยังโลกประวัติศาสตร์จีนและประวัติศาสตร์ไทย นายต้วน ลี่เซิงมีความเข้าใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศ “ระบบตัวอักษรจีนมีความเฉพาะพิเศษมาก ระบบตัวอักษรจีนที่มั่นคงทำให้การแลกเปลี่ยนข้ามสมัยและข้ามดินแดนเป็นเรื่องง่ายขึ้น  ชาวจีนให้ความสำคัญกับการชำระประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยตัวอักษรกระดองเต่า การบันทึกประวัติศาสตร์ก็มีนัยอันศักดิ์สิทธิ์ในประเทศจีน วัฒนธรรมการมีขุนนางที่รับผิดชอบจดบันทึกประวัติศาสตร์มีบทบาทสำคัญมากในวัฒนธรรมโบราณของจีน ซึ่งสำหรับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมศาสนาแล้ว นับว่ามีนัยสำคัญอย่างยิ่งยวดในการการเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในบันทึกทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา”

ในปี ค.ศ. 2004 นายต้วน ลี่เซิง ได้เกษียณอายุจากมหาวิทยาลัยจงซานกลับมาอยู่บ้านเกิดที่คุนหมิง โดยได้รับเชิญจากศูนย์ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยยูนนาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคณะกรรมการวิชาการศูนย์ไทยศึกษา มหาวิทยาลัยยูนนาน ในขณะเดียวกัน ก็ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศซีอานและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ อีกหลายแห่ง หลายปีมานี้ นายต้วน ลี่เซิง ยังคงมุ่งมั่นเขียนหนังสือจำนวนมาก อาทิ “รวมเกร็ดประวัติศาสตร์ไทย” “ประวัติศาสตร์ศิลปะวัฒนธรรมไทย” “ท่องประวัติศาสตร์ไทย” “ท่องประวัติศาสตร์กัมพูชา” เป็นต้น

ด้วยการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทยของตนเอง นายต้วน ลี่เซิงได้เชิญให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งจุดทดสอบมาตรฐานความรู้ภาษาไทยขึ้นที่มหาวิทยาลัยยูนนาน อีกทั้งยังได้เปิดช่องทางให้นักศึกษาจีนและไทยไปเรียนต่อที่ประเทศของอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การแลกเปลี่ยนและการไปมาหาสู่กันระหว่างจีนกับไทยเป็นอย่างมาก

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006