ผู้ติดตามรอยช้าง

2020-07-29 15:24:33 |แหล่งที่มา: นิตยสารแม่น้ำโขง

“ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา อำเภอเมืองไห่มีการเคลื่อนไหวของโขลงช้างพวกมันบุกเข้าไปที่ลานบ้านของชาวบ้าน” คุณจ้าว ผิงกล่าว ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 ช้างเอเชียจำนวน 14 ตัว เดินจากตำบลเมืองหม่าน อำเภอเมืองไห่ แคว้นปกครองตนเองชนชาติไตสิบสองพันนา เข้าสู่หมู่บ้านม่านม่าย ตำบลเมืองอา หลังจากที่ภาพช้างเอเชียเดินเตร็ดเตร่ในหมู่บ้านได้ถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตจนกลายเป็นกระแสขึ้นมา เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนอยู่ภายใต้การจับจ้องของคุณจ้าว

ช้างเอเชียจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองแห่งชาติระดับสูงสุดของจีน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในแคว้นสิบสองพันนา และเมืองหลินชางในมณฑลยูนนาน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลจีนได้มีการปกป้องระบบนิเวศอย่างจริงจัง ทำให้ในปี ค.ศ. 1990 มีจำนวนช้างป่าเพิ่มขึ้นจาก 170 ตัว เป็นเกือบ 300 ตัวในปัจจุบัน ทั้งนี้ คุณจ้าวได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังติดตามช้างเอเชียในเขตอำเภอเมืองไห่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 และยังเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกที่ได้ใกล้ชิดสัมผัสกับช้างป่า คุณจ้าวและเพื่อนร่วมงานต้องติดตามเฝ้าดูช้างเอเชียที่แสน “ซุกซน” ลงมาจากภูเขาโขลงแล้วโขลงเล่า นี่คือกิจวัตรประจำวันของคุณจ้าว

คุณจ้าวจะคอยสังเกตโขลงช้างอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน และในคราวนี้มีช้างทั้งหมด 14 ตัว ปรากฏตัวขึ้นที่ตำบลเมืองอา โดยในวันที่ 8 มีนาคม เขาได้ติดตามช้างมาจากอีกหมู่บ้านหนึ่ง รวมระยะทางในการติดตามราว 40 กิโลเมตร เกือบตลอดเส้นทางต้องอาศัยการเดินเท้าในเวลากลางวันส่วนกลางคืนใช้โดรนเพื่อเฝ้าคอยติดตามพวกช้าง “นี่คือโขลงช้างป่าที่เคลื่อนไหวในพื้นที่เมืองไห่มาเป็นเวลาช้านาน ทันทีพบว่า ช้างลงมาจากภูเขาและบุกเข้ามาใกล้หมู่บ้าน พวกเราต้องออกประกาศแจ้งเตือนให้ทันท่วงที” โชคดีที่คุณจ้าวและเพื่อนร่วมงานทุ่มเททำงานกันอย่างหนัก ทำให้มั่นใจได้ว่า ชาวบ้านจะมีเวลาเพียงพอในการเก็บอ้อยเพื่อลดความสูญเสียอันเนื่องจากช้างบุกเข้ามาในพื้นที่ของชาวบ้าน และยังเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้ช้างอยู่นานเพราะมัวแต่กินอ้อย ชาวบ้านไม่ต้องบาดเจ็บล้มตายจากการถูกช้างทำร้าย

คุณจ้าวเล่าว่า ทุกครั้งที่ทำงานพวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก กังวลว่าหากพวกเขาเฝ้าระวังได้ไม่ดีพอ อาจจะทำให้ชาวบ้านเข้าสู่วงกิจกรรมของช้างป่าโดยไม่ตั้งใจ คุณหลง หยุนไห่ รองผู้อำนวยการสำนักงานป่าไม้และทุ่งหญ้าอำเภอเมืองไห่ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่ทำงานเฝ้าติดตามช้างป่า ไม่เพียงแต่ทำงานด้วยความยากลำบาก แต่ยังแฝงไปด้วยความอันตราย ดังนั้น พวกเขาจะต้องผ่านการฝึกฝนอย่างเป็นระบบซึ่งรวมถึง “การฟัง” “การดู” และ “การดมกลิ่น” “การฟัง” คือ การสังเกตจับเสียงของช้างบริเวณโดยรอบด้วยหู “การดู” คือ การเฝ้าดูสังเกตกิ่งไม้หรือต้นไม้ที่ช้างเหยียบผ่านและรอยเท้าของช้าง เป็นต้น “การดมกลิ่น” คือ การดมกลิ่นเพื่อพิจารณาว่ามูลช้างสดใหม่หรือไม่ คุณจ้าวเล่าว่า เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ด้วยประสบการณ์หลายปีในการติดตามช้าง ทำให้เขาสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่าได้ในระยะเวลาอันสั้น

“ในการติดตามโขลงช้างจะต้องปิดเสียงโทรศัพท์ และต้องมีสมาธิตลอดการทำงาน” คุณจ้าวเล่าว่า บางครั้งเห็นหนูวิ่งผ่านอยู่ตรงหน้า ก็ขนลุกกล้ามเนื้อเกร็งไปหมด พวกเขาจะต้องระลึกอยู่เสมอว่ากำลังติดตามช้างอยู่ ต้องรู้ถึงตำแหน่งของช้างอยู่เสมอ จึงจะทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจขึ้น” พอเวลานานเข้า การติดตามช้างกลับไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่หากเราตามหาช้างไม่เจอจะรู้สึกเป็นกังวลและเดือดร้อนมากกว่าใคร ๆ”

โขลงช้างที่บุกเข้ามาในตำบลเมืองอาครั้งนี้ ทุกความเคลื่อนไหวอยู่ภายใต้การสังเกตควบคุมของคุณจ้าวและเพื่อนร่วมงาน พวกมันบุกเข้าไปในหมู่บ้านขโมยกินอ้อยและทำลายไหเหล้า ทำลายข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเสียหาย ทุกวันนี้ ยังคงอ้อยอิ่งและไม่ยอมออกจากหมู่บ้าน บ้านของคุณหลี่ ปาในหมู่บ้านม่านใหม่ ตำบลเมืองอา ได้ถูกช้างป่าบุกรุก เขาเล่าว่า “เหล้าข้าวโพดที่เรากลั่นขึ้นเองสาดกระเซ็นไปทั่วพื้น ตอนนี้ ผมได้แต่คอยให้พวกมันกลับขึ้นไปบนภูเขาไว ๆ”

เนื่องจากต้องมีการประกาศเตือนล่วงหน้า เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้าน ทีมสังเกตการณ์ภาคสนามที่มีจำนวนคนไม่ถึง 10 คน ทำให้พวกเขาแต่ละคนนอนได้เพียง 2 - 3 ชั่วโมงเกือบทุกวัน “ช่วงนี้เป็นช่วงไถคราดหว่านเมล็ดพันธุ์ในฤดูใบไม้ผลิ ดังนั้น เราต้องตรวจสอบตำแหน่งการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของช้างป่าให้ได้ก่อนที่ชาวบ้านจะทำงาน” คุณจ้าวกล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่คุณจ้าวกำลังติดตามรอยช้างบริเวณไร่อ้อย ทันใดนั้น ก็มีรถสามล้อขับมุ่งหน้าเข้ามา เขารีบส่งสัญญาณมือให้ชาวบ้านหักหัวรถเลี้ยวกลับได้ทันเวลา “ต้องระวังไม่ให้ช้างแตกตื่นเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะเกิดผลที่ไม่อาจคาดคิดตามมา” คุณจ้าวกล่าว แม้จะต้องทำงานหนักเหน็ดเหนื่อยสักปานใด ก็เป็นการคุ้มค่าหากคุณสามารถขจัดความขัดแย้งระหว่างคนและช้างป่าได้

“หลังจากที่โขลงช้างตั้งมั่นในสถานที่หนึ่งสถานที่ใดแล้ว ช้างป่าก็จะไม่ทำอะไรมากไปกว่ากิน ๆ ดื่ม ๆ และเล่นสนุกสนาน” คุณจ้าวเล่าว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ช้างป่าจะเคลื่อนย้ายอย่างกะทันหัน ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่สังเกตภาคสนามจึงจำเป็นต้องทำการคาดการณ์ล่วงหน้าติดตามอย่างต่อเนื่องผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับเครื่องมือและส่งข้อมูลเตือนภัยล่วงหน้าตลอดเวลา การที่จะต้องตะลอนไปในป่าเป็นประจำทำให้ไม่มีเวลาใส่ใจเรื่องอาหารการกิน เพื่อลดภาระในการเดินทางคุณจ้าวจึงมักจะมีเพียงน้ำในกระเป๋าสะพายของเขา “หลังจากติดตามรอยช้างมานานหลายปี งานนี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นสิ่งที่ผมชื่นชอบไปแล้ว” เขากล่าว

滇ICP备 09002441号
中华人民共和国国务院新闻办公室 支持指导
云南省人民政府新闻办公室 主办
云南日报报业集团 承办
本网站由云桥网版权所有,未经授权禁止复制或建立镜像
Copyright ©yunnangateway.com All Rights Reserved since 2006