ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2013 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงเสนอข้อริเริ่มร่วมสร้าง “แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม” และ “เส้นทางสายไหมทางทะเลศตวรรษที่ 21” หรือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ระหว่างเยือนคาซัคสถาน และอินโดนีเซียตามลำดับ จีนมีสุภาษิตว่า “ต้นท้อและต้นพลัมไม่จำเป็นต้องออกปากพูด แต่แรงดึงดูดของมันก็ทำให้ใต้ต้นมีทางเดินเกิดขึ้นเอง” ช่วงหลายปีมานี้ 100 กว่าประเทศและองค์กรระหว่างประเทศได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ได้บรรจุเนื้อหาการสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” อยู่ในมติที่สำคัญ ปัจจุบัน วิสัยทัศน์สร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กำลังเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ และประสบความสำเร็จที่น่าพอใจ
ช่วงหลายปีมานี้ การเชื่อมต่อกับนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ ได้ลงลึกมากยิ่งขึ้นด้วย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ย้ำในหลายโอกาสว่า การสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มีเป้าหมายจะเชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ประเทศต่างๆ สามารถเกื้อกูลกันโดยอาศัยความได้เปรียบของตน จีนได้เสริมการประสานข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับนโยบายการพัฒนาของประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนโยบายการพัฒนาของประเทศต่างๆ เหล่านี้รวมถึงนโยบายสร้างสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียของรัสเซีย แผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ข้อริเริ่มเส้นทางแห่งความสว่างของคาซักสถาน
ระเบียงกลางของตุรกี เส้นทางแห่งการพัฒนาของมองโกเลีย สองระเบียงหนึ่งวงเศรษฐกิจของเวียดนาม ศูนย์เศรษฐกิจภาคเหนือของอังกฤษ และเส้นทางอำพันของโปแลนด์ เป็นต้น ขณะนี้ จีนเริ่มประสานข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กับแผนการพัฒนาของประเทศลาว กัมพูชา พม่า และฮังการีแล้วด้วย นอกจากนี้ จีนยังได้ดำเนินความร่วมมือด้านพลังการผลิตกับกว่า 30 ประเทศ ระหว่างการประชุม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ครั้งแรก และได้ลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการเชื่อมต่อนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ และแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังได้ร่วมกับกว่า 60 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศประกาศส่งเสริมการเชื่อมต่อทางการค้า “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” การเชื่อมต่อนโยบายการพัฒนาระหว่างประเทศต่างๆ ทำให้เกิดผลดีแบบ “หนึ่งบวกหนึ่งมากกว่าสอง”
ช่วงหลายปีมานี้ จีนเสริมสร้างการเชื่อมต่อโครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อนการสร้างทางรถไฟจาการ์ตา-บันดุง ทางรถไฟจีน-ลาว ทางรถไฟแอดดิสอาบาบา-นครจิบูตี ทางรถไฟฮังการี-เซอร์เบีย และได้พัฒนาท่าเรือกวาดาร์ (Gwadar) ท่าเรือไพรีอัส (Piraeu) นอกจากนี้ ยังมีโครงการเชื่อมต่อโครงสร้างขั้นพื้นฐานอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการวางแผนและเตรียมการ ปัจจุบัน เครือข่ายโครงสร้างขั้นพื้นฐานหลายมิติกำลังก่อรูปขึ้น จากการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัสเซีย และระเบียงเศรษฐกิจเส้นทางยูเรเซียใหม่ (New Eurasian Land Bridge) เครือข่ายโครงสร้างขั้นพื้นฐานดังกล่าวมีทั้งเส้นทางการคมนาคมทางบก ทางทะเล และทางอากาศ อีกทั้งยังมีทางด่วนสารสนเทศ เครือข่ายนี้เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น โครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ท่าเรือ และเครือข่ายท่อส่งลำเลียง
ช่วงหลายปีมานี้ การเชื่อมต่อทางการค้ามีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จีนและประเทศที่มีส่วนร่วมใน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” พยายามขับเคลื่อนความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และปรับปรุงสภาวะแวดล้อมการประกอบธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น เช่น ปัจจุบัน สินค้าเกษตรของคาซักสถานและประเทศเอเชียกลางอื่นๆ ที่ส่งออกมายังจีนใช้เวลาผ่านด่านศุลกากรจีนลดลง 90% ช่วงปี 2014-2016 ยอดมูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศรายทาง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” มีกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยอดการลงทุนของจีนในประเทศเหล่านี้มีมากกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจีนได้สร้างเขตความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า 56 แห่งในกว่า 20 ประเทศ ทำให้ประเทศเหล่านี้มีรายได้จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีตำแหน่งงาน เพิ่มขึ้นอีก 180,000 ตำแหน่ง
ช่วงหลายปีมานี้ การเชื่อมต่อทางการเงินก็ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคอขวดทางการเงินเป็นการท้าทายที่โดดเด่นมากในการบรรลุการเชื่อมต่อโครงสร้างขั้นพื้นฐาน จีนกับประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนร่วมใน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ดำเนินความร่วมมือทางการเงินในรูปแบบต่างๆ เช่น ธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียได้ปล่อยเงินกู้ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ 9 โครงการพัฒนาในประเทศที่มีส่วนร่วมใน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” กองทุนเส้นทางสายไหมได้ลงทุนไป 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว บริษัทโฮลดิ้งทางการเงินระหว่างจีนกับ
ประเทศในแถบยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งกลไกความร่วมมือด้านการเงินรูปแบบใหม่เหล่านี้ มีความแตกต่างจากสถาบันการเงินพหุภาคีแบบดั้งเดิมอย่างเช่น ธนาคารโลก ในด้านเป้าหมายการบริกา แต่อย่างไรก็ตาม กลไกความร่วมมือด้านการเงินทั้งสองแบบดังกล่าวก็มีส่วนเกื้อกูลกัน ปัจจุบัน เครือข่ายความร่วมมือด้านการเงินที่มีหลายระดับชั้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนา “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้ก่อรูปขึ้นในเบื้องต้นแล้ว
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า ช่วงหลายปีมานี้ มีการส่งเสริมการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีเกิดจากการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชน การไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชนเกิดจากความเข้าใจกันอันดี ซึ่งประเทศที่มีส่วนร่วมใน “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ต่างเชิดชูส่งเสริมเจตนารมณ์เส้นทางสายไหม ใช้ความพยายามในการสร้างเส้นทางสายไหมเพื่อการศึกษา เส้นทางสายไหมเพื่อสุขภาพ โดยได้ดำเนินความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง เช่น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษา วัฒนธรรม การรักษาพยาบาล และการไปมาหาสู่กันระหว่างประชาชน ความร่วมมือดังกล่าวได้ปูพื้นฐานแห่งมิตรภาพและสังคมที่แข็งแกร่งให้แก่การสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” รัฐบาลจีนได้ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนจากประเทศที่เกี่ยวข้องปีละ 10,000 คน รัฐบาลท้องถิ่นจีนก็ได้จัดตั้งกองทุนการศึกษาโดยเฉพาะสำหรับประเทศรายทางเส้นทางสายไหม เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศด้านวัฒนธรรมและการศึกษา นอกจากนี้ โครงการความร่วมมือระหว่างประชาชนต่างๆ เช่น ปีวัฒนธรรม ปีการท่องเที่ยว เทศกาลศิลปะ โครงการภาพยนตร์และโทรทัศน์ งานสัมมนา และงานแลกเปลี่ยนระหว่างคลังสมองเกี่ยวกับเส้นทางสายไหมได้เกิดขึ้นอย่างมาก โครงการความร่วมมือเหล่านี้ได้ช่วยกระชับมิตรสัมพันธ์ระหว่างประชาชนประเทศต่างๆให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
ผลสำเร็จที่น่าพอใจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” สอดคล้องกับกระแสแห่งยุค สอดคล้องกับกฎแห่งการพัฒนา และยังสอดคล้องกับประโยชน์ของประชาชนประเทศต่างๆ ทั่วโลก จึงมีอนาคตที่กว้างไกลอย่างแน่นอน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงยังกล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการปฏิบัติภารกิจทุกอย่างต้องเผชิญกับความยากลำบากต่างๆอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ก้าวแรกในการสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ได้ก้าวออกไปอย่างมั่นคงแล้ว เราจะต้องดำเนินการตามแนวโน้มที่ต้องเป็นไป ขับเคลื่อนให้การสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ประสบความสำเร็จ และเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ จะต้องสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ให้เป็นเส้นทางแห่งสันติภาพ เส้นทางสายไหมโบราณมีความเจริญรุ่งเรืองในยุคที่มีสันติภาพ และซบเซาในยุคที่เกิดสงคราม การสร้าง “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ต้องการสภาวะแวดล้อมที่มีสันติภาพและเสถียรภาพ เราต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่ที่มีลักษณะร่วมมือกันเพื่อชัยชนะร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์หุ้นส่วนที่มีการแลกเปลี่ยนกัน ไม่เป็นปรปักษ์กัน เป็นหุ้นส่วนกัน แต่ไม่ผูกเป็นพันธมิตรกัน ทุกประเทศต้องเคารพอธิปไตย ศักดิ์ศรี บูรณภาพเหนือดินแดนซึ่งกันและกัน เคารพระบอบสังคมของกันและกัน และคำนึงถึงประโยชน์ที่สำคัญที่สุด รวมทั้งประเด็นปัญหาที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษของกันและกัน
ซึ่งบางพื้นที่รายทางเส้นทางสายไหมโบราณเคยเป็นแหล่งผลิตนมวัวและน้ำผึ้ง แต่ปัจจุบัน หลายพื้นที่ดังกล่าวได้เกิดการปะทะ ความปั่นป่วน วิกฤต และการท้าทาย สถานการณ์เช่นนี้ไม่ควรให้ดำรงต่อไปอีก เราต้องมีวิสัยทัศน์ความมั่นคงร่วมกันที่มีลักษณะครอบคลุมทุกด้าน ร่วมมือกัน และมีความยั่งยืน เพื่อทำให้เกิดบรรยากาศร่วมสร้างและร่วมรับประโยชน์จากสภาวะแวดล้อมที่มีความปลอดภัย เราต้องทุ่มเทกำลังแก้ไขปัญหาประเด็นร้อนด้วยวิถีทางการเมือง และสนับสนุนการไกล่เกลี่ย ยึดมั่นในความเที่ยงธรรมและยุติธรรม ต้องเร่งขับเคลื่อนการปราบปรามการก่อการร้าย แก้ไขปัญหาทั้งปลายทางและต้นทาง ขจัดความยากจน ความล้าหลัง และความไม่ยุติธรรมในสังคม