วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2011 นายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีในสมัยนั้น พบกับคณะผู้บรรยายเกียรติประวัติอันก้าวหน้าของหยาง ซ่านโจว ที่มหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่ง
ในภาพ นายสี จิ้นผิงพูดคุยกับนางหยาง ฮุ่ยหลาน ลูกสาวคนที่ 2 ของหยาง ซ่านโจว
ภายหลังหยาง ซ่านโจว (杨善洲, Yang Shanzhou, ค.ศ. 1927—ค.ศ. 2010) ถึงแก่กรรมไม่กี่เดือน มีการจัดประชุมบรรยายเกี่ยวกับเกียรติประวัติอันก้าวหน้าของเขาที่มหาศาลาประชาชนกรุงปักกิ่งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ปี 2011 โดยนายสี จิ้นผิง รองประธานาธิบดีในสมัยนั้น ได้พบกับคณะผู้บรรยายทั้งคณะ และกล่าวปราศรัยว่า เราเผยแพร่เกียรติประวัติของหยาง ซ่านโจวอย่างให้แพร่หลาย กระตุ้นให้สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งหลายหมั่นทำความดีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ถูกหลัก สร้างความปรองดองในสังคม สร้างบรรยากาศเอาอย่างบุคคลที่มีความก้าวหน้าอย่างจริงจัง พยายามเป็นบุคคลก้าวหน้า และไปให้ไกลกว่าบุคคลก้าวหน้าที่ผ่านมา
นายสี จิ้นผิงระบุว่า เกียรติประวัติของหยาง ซ่านโจวสะท้อนถึงจิตใจของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ในปัจจุบัน เขาเป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การเทิดทูนไว้ตลอดไป เป็นตัวแทนอันโดดเด่นของเหล่าข้าราชการระดับสูงที่เกษียณอายุแล้วแต่ยังคงสามารถสร้างผลงานได้ในยามชรา ข้าราชการทั้งหลายควรเรียนรู้จิตใจการรับใช้ประชาชนของเขา เอาใจใส่ประชาชนโดยคำนึงถึงประชาชน และทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อประชาชน โดยเห็นแก่ส่วนรวม มิใช่เห็นแก่ตัว ไม่ยึดติดกับลาภยศสรรเสริญ ต่อสู้อย่างทรหดอดทน ตลอดจนซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติตามค่านิยมและคุณธรรมของชาวพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยความสมัครใจ
หยาง ซ่านโจวมีธิดา 3 คน เนื่องจากเขาทำงานในต่างถิ่นนานปี ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ภริยาของเขาจึงต้องรับหน้าที่ดูแลครอบครัวทั้งหมด นางหยาง ฮุ่ยหลาน ลูกสาวคนที่ 2 ของเขาเล่าว่า
“ตอนเด็ก ที่บ้านมีข้าวไม่พอกิน คุณแม่ยังต้องไปหาผักป่ามาประทังชีพ ดิฉันกับน้องสาวไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ยามเช้าคุณแม่ต้องเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าบนภูเขา ยามกลางคืนสานบุ้งกี๋และไม้กวาด แล้วแบกไปจำหน่ายที่ตลาด เพื่อสะสมเงินเป็นค่าเล่าเรียน กล่าวได้ว่า เราไม่เพียงแต่ไม่ได้พึ่งพาคุณพ่อมากเท่าไรเท่านั้น คุณพ่อยังมักจะห้ามไม่ให้ผู้มีน้ำใจมาช่วยคุณแม่และพี่น้องของเราอีกด้วย”
นางหยาง ฮุ่ยหลาน ยังเล่าว่า
“ตอนนั้น ดิฉันรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างยิ่ง กระทั่งแค้นใจคุณพ่อด้วย แต่เมื่อโตขึ้นแล้ว ก็ค่อยๆ เข้าใจคุณพ่อมากขึ้น เข้าใจว่าคุณพ่อทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนในเมืองป่าวซานด้วยความจริงใจ และไม่ใช้อำนาจเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวและเพื่อบ้านเป็นอันขาด”
นางหยาง ฮุ่ยฉิน ลูกสาวคนที่ 3 ของหยาง ซ่านโจว หวนระลึกว่า
“ช่วงฤดูร้อนปี 1975 บ้านพักของพวกเรามีสภาพทรุดโทรมอย่างมาก พอฝนตกครั้งหนึ่งน้ำฝนก็รั่วเต็มหมด ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั้งครอบครัวทนอยู่ต่อไม่ได้จริงๆ คุณแม่จึงต้องเดินทางไปหาคุณพ่อเพื่อขอเงินมาซ่อมแซมบ้าน คุณพ่อจึงควักเงิน 30 หยวนออกจากเสื้อ ซึ่งมีเพียงแค่นี้ และมอบให้คุณแม่โดยบอกว่า ‘เธอนำเงิน 30 หยวนนี้กลับไปก่อน ซื้อกะละมังสี่ห้าใบมารองน้ำฝนที่รั่ว อดทนสักพักนะ’ คุณแม่รับเงิน 30 หยวนนี้ด้วยน้ำตาคลอ แล้วกลับไปที่บ้าน......”
เมื่อฟังเรื่องเช่นนี้แล้ว หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่า หยาง ซ่านโจวในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองป่าวซาน ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดในท้องถิ่น ทำไมถึงกลับไม่มีเงิน เหลือเชื่อจริง ๆ แต่นี่กลับเป็นเรื่องจริง
เมื่อปี 1995 หลังจากที่หยาง ซ่านโจวเกษียณอายุราชการไป 6-7 ปีและปลูกป่าในภูเขาต้าเลี่ยงซาน (大亮山) อำเภอซือเตี้ยน เมืองป่าวซาน (Baoshan City) มณฑลหยุนหนาน เมื่อทางบ้านต้องการเงินไปชำระหนี้สินที่สร้างบ้านจำนวน 50,000 หยวน เขาควักเงิน 9,600 หยวนให้ภริยา ภริยาถามว่า “ทั้งชั่วชีวิตคุณสะสมเงินไว้ได้เพียงแค่นี้เองหรือ” เขากวักมือให้ภริยาว่า “คนอื่นไม่เข้าใจผม คุณยังไม่เข้าใจผมอีกหรือ?ผมไม่มีเงินจริง ๆ !” ภริยาได้ยินเช่นนี้น้ำตาคลอเบ้าอีกครั้ง จนในที่สุดถึงกับต้องขายบ้านหลังนั้น ปีนั้น หยาง ซ่านโจวอายุ 68 ปี และมีเงินสะสมไม่ถึงหมื่นหยวน ทั้งๆ ที่เขาเคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำเมืองป่าวซาน ผู้นำสูงสุดของท้องถิ่นมาก่อน
ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า หยาง ซ่านโจวไม่มักในทรัพย์ ไม่หลงไหลอำนาจ เขามักจะใช้อำนาจไปในทางที่ถูก นำเงินไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน และคำนึงถึงพี่น้องประชาชนที่ยังคงมีความเดือดร้อนและลำบากกว่าครอบครัวของตัวเขาเอง
ไม่ยึดติดกับลาภยศสรรเสริญ
หยาง ซ่านโจวเป็นแกนนำในการปลูกป่าที่ต้าเลี่ยงซาน แต่เขาไม่เคยรับค่าตอบแทนจากการปลูกป่า ผู้อำนวยการอุทยานเคยพูดกับเขาว่า “ท่านเลขาธิการพรรคฯ เป็นที่ปรึกษาของอุทยาน ทางอุทยานมีเงินไม่มากก็จริง แต่ก็มีเงินพอที่จะให้ค่าตอบแทนเดือนละ 500 หยวน” หยาง ซ่านโจวปฏิเสธว่า “ผมมาปลูกต้นไม้ จะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร”
ภริยาของเขาเคยนั่งรถจีปของอุทยาน 4 ครั้ง เขาจึงจ่ายค่าน้ำมันไป 370 หยวน เขาบอกว่า “ทางอุทยานเห็นว่าผมแก่แล้ว เวลาไปธุระข้างนอกไม่สะดวก เขาจึงจัดรถมาให้ รถคันนี้ไว้สำหรับทำงาน ไม่ใช่เพื่อรับส่งสมาชิกครอบครัว เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีเงินซื้อรถหรือมอเตอร์ไซค์แล้ว ผมมี ‘อภิสิทธิ’ อยู่แล้ว หากคิดจะเอารัดเอาเปรียบอีก ก็ไม่ควรยิ่ง”
นี่ก็คือ เกียรติประวัติของหยาง ซ่านโจว (杨善洲, Yang Shanzhou, ค.ศ. 1927—ค.ศ. 2010) ผู้สร้างป่าปลูกบนพื้นที่กว่า 23,000 ไร่ มูลคากว่า 300 ล้านหยวน หรือ 15,000 ล้านบาท และยกป่าดังกล่าวเป็นสมบัติของประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลผู้สร้างความประทับใจ ผู้เป็นแบบอย่างของจีน