22 มิ.ย. ที่ผ่านมา การประชุมคลังสมองจีน-ไทยเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการที่กรุงปักกิ่ง นักวิชาการจากทั้งประเทศจีนและประเทศไทยได้ร่วมกันหารือถึงความร่วมมือเชิงลึกตามแนวนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะยิ่งส่งเสริมให้มิตรภาพจีน-ไทยแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เกา เผยหย่ง รองประธานสภาสังคมศาสตร์จีน ระบุว่า มิตรภาพจีน-ไทยนั้นมีความเป็นมายาวนาน นับตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อปี 1975 ทั้งสองประเทศก็รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันมาตลอด จนกระทั่งมีนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ยิ่งเป็นโอกาสอันดีที่จีนและไทยจะได้พัฒนาโอกาสใหม่ๆ ร่วมกัน
เกาเผยหย่งระบุว่า ทั้งจีนและไทยต่างก็เป็นประเทศกำลังพัฒนา พบเจออุปสรรคที่คล้ายคลึงกันในขั้นตอนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ต่างก็มีวิธีแก้ปัญหาไม่เหมือนกัน การพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจึงจะยิ่งทำให้สองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น นำข้อดีของอีกฝ่ายมาปรับใช้ และแก้ไขข้อบกพร่องของอีกฝ่ายได้ เท่ากับสองฝ่ายจะได้พัฒนาไปด้วยกัน
เขาหวังว่านักวิชาการจากไทยและจีนจะได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและขัดเกลาความรู้กันและกัน เรียนรู้จากประสบการณ์ของอีกฝ่าย และสร้างคุณูปการด้านปัญญาให้แก่กัน
สุรสิทธิ์ ถนัดทาง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ) ระบุว่า นโยบายไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ที่ประเทศไทยกำลังผลักดันอยู่นี้สามารถสอดรับกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนได้ และสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้ความร่วมมือในขอบเขตต่างๆ เช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนของทั้งสองประเทศ
สุรสิทธิ์มองว่า ไม่ว่าขั้วอำนาจของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ความสัมพันธ์ไทย-จีนยังคงมีมิตรภาพแน่นแฟ้นต่อกันเรื่อยมา คำกล่าวที่ว่า “ไทยจีนเป็นครอบครัวเดียวกัน” ฝังรากลึกอยู่ในหัวใจของทั้งชาวไทยและชาวจีน
สองสามปีมานี้ความสัมพันธ์ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมไทย-จีนมีการติดต่อสัมพันธ์กันใกล้ชิดยิ่งขึ้น มีความร่วมมือเชิงลึกในหลากหลายขอบเขต นำมาซึ่งประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองประเทศ
การประชุมคลังสมองจีน-ไทยครั้งนี้จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของสภาสังคมศาสตร์จีนและสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “นโยบายสังคมและการพัฒนาสังคมจีน-ไทยในยุคใหม่ : ความร่วมมือจีน-ไทยภายใต้นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง”