หลังจากทางรถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ปรับความเร็วรองรับรถไฟรุ่นใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ฟูซิงเฮ่า” และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว ระยะทางทั้งหมดของทางรถไฟความเร็วสูงคิดเป็นกว่า 60% ของเส้นทางเดินรถทั้งเครือข่ายทางรถไฟทั่วประเทศจีน พร้อมกันนั้น ยอดการผลิตและการจำหน่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และรถยนต์พลังงานทางเลือก มีปริมาณมากถึงกว่า 50% ของยอดการผลิตและจัดจำหน่าย
ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้ามาก ส่งผลให้รูปแบบการจราจรให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ มีมากมาย นำมาซึ่งความสะดวกสบายในการเดินทางของคนจีน ชนิดที่เรียกว่าคาดไม่ถึง ซึ่งประเด็นการคมนาคมขนส่ง การเดินทางของคนจีนในอนาคตก็ถือเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงในที่ประชุมสองสภาที่เพิ่งเสร็จสิ้นลงไม่นาน สมาชิกสภาผู้แทนประชาชน กรรมการสภาปรึกษาการเมือง รวมทั้งเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูง และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคม ต่างก็มีข้อเสนอที่สามารถตอบสนองความ ต้องการของคนจีน สำหรับการเดินทางและระบบคมนาคมขนส่งในอนาคต
วิจัยและผลิตรถไฟความเร็วสูงอัจฉริยะกับรถไฟแบบแม็กเลฟ (Magnetically levitating)
หลายปีมานี้ การพัฒนาอย่างรวดเร็วของรถไฟความเร็วสูงของจีน ถือว่าตอบโจทย์ การเดินทางของประชาชนเกือบ 1,400 ล้านคน ทั่วประเทศ การเดินทางอย่างสะดวกสบาย ปลอดภัยและประหยัดเวลาด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมี ทางเลือกที่หลากหลาย จนชาวจีนพูดกันติดปากว่า “ตอนเช้ากินปาท่องโก๋ที่ปักกิ่ง ตอนเย็นทานติ๋มซำที่กว่างโจว” ทั้งๆ ที่ 2 เมืองนี้ มีระยะทางห่างกันประมาณ 2,300 กิโลเมตร
ถึงแม้จีนส่งออกเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงไปยังหลายประเทศแล้ว แต่ก็ไม่เคยหยุดยั้งที่จะเพิ่มศักยภาพของรถไฟความเร็วสูง โดยล่าสุดในระหว่างการจัดประชุมสองสภาของจีน นายหลู ชุนฝัง ผู้อำนวยการใหญ่โครงการสร้างสรรค์รถไฟความเร็วสูงปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ กรรมการสภาปรึกษาการเมืองแห่งชาติจีน แนะนำกับสื่อมวลชนในรายละเอียดงานสำคัญๆ โดยเฉพาะผลงานนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต
เขากล่าวว่า ข้อที่หนึ่ง ให้ความสำคัญในเรื่องของความปลอดภัยสำหรับรถไฟความเร็วสูง โดยจะเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ ติดตั้งอุปกรณ์ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบความปลอดภัยที่ทันสมัยที่สุด
ข้อที่สอง สร้างรถไฟความเร็วสูงอัจฉริยะ โดยการศึกษาวิจัยเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental perception) ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมขบวนรถไฟความเร็วสูงที่สามารถเรียนรู้และตัดสินใจได้ด้วยระบบ
ข้อที่สาม เพิ่มความเร็วของรถไฟ วิจัยและผลิตรถไฟแม็กเลฟความเร็วสูง ตลอดจนรถไฟที่บินในหลอดสูญอากาศด้วย
ข้อที่สี่ พัฒนารถไฟพลังไฟฟ้า ในหลายรูปแบบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่เน้นประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสียงรบกวนต่ำ
นายหลู ชุนฝังเน้นว่า ต่อไปในอนาคต จีนจะรักษาระดับสูงของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ จนถึงปี 2025 เครือข่ายทางรถไฟความเร็วสูงที่เปิดใช้งานแล้วของจีนจะมีระยะทาง 38,000 กิโลเมตร เป็นหลักประกันให้ชาวจีนและชาวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของจีน ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นจากการเดินทางภายในประเทศ